วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เวลา 11.30 น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้โอวาทแก่ตัวแทนเยาวชนไทยและครูผู้ฝึกสอน จำนวน 50 คน ซึ่งเข้าร่วมแข่งขันศิลปะการเต้นระดับนานาชาติ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก “21st Asia Pacific Dance Competition Bangkok 2019” ณ กรุงเทพฯ โดยมีน.ส.วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้แทนสถาบัน The Commonwealth Society of Teachers of Dancing ประจำประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหารสมาคมฯ และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายและยุทธศาสตร์เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ ๒๑ และสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก โดยการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเด็ก เยาวชนที่มีความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรมในแขนงต่างๆ รวมถึงสนับสนุนให้เยาวชนแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย
ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ สถาบัน The Commonwealth Society of Teachers of Dancing (CSTD) ประเทศไทย ในการส่งตัวแทนเด็กและเยาวชนไทย เข้าร่วมแข่งขันศิลปะการเต้นระดับนานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก 21st Asia Pacific Dance Competition Bangkok 2019 ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
โดยปี ๒๕๖๒ นี้ ประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันและต้อนรับเยาวชนนักเต้น โดยมีผู้เข้าแข่งขันจาก ๙ ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง กัมพูชา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินเดีย ฟิลิปินส์ และจีน
กระทรวงวัฒนธรรมยินดีสนับสนุนเยาวชนไทยในการทำกิจกรรมที่มีศิลปวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานทั้งศิลปวัฒนธรรมแบบแผนประเพณีและศิลปวัฒธรรมร่วมสมัย เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทยและชื่นชมความสามารถของเยาวชนไทย ซึ่งเป็นการรักษา สืบสาน และต่อยอดศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะศิลปะการเต้น เป็นกิจกรรมอีก ๑ ประเภท นอกจากวิชาเรียนที่เยาวชนไทยนิยมเรียนรู้ ช่วยให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีพัฒนาการทางร่างกาย และต่อยอดไปสู่การเรียนระดับสูงและนำไปสู่การสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ที่ผ่านมามีสถาบันสอนเต้นจำนวนมากได้บ่มเพาะเยาวชนไทยจนได้เป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งขันระดับนานาชาติและมีผลงานโดดเด่นมาโดยตลอด
ขอให้กำลังใจและขอให้ตัวแทนเยาวชนไทยตั้งใจฝึกซ้อมให้ดีและพัฒนาความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ในการเต้นให้เต็มที่ เวลาแข่งขันทำให้ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือการควบคุมสมาธิและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ ขอให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันทุกรุ่นทุกคน อีกทั้งร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดีในการต้อนรับ พร้อมกับแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยอันงดงามให้แก่เยาวชนจากประเทศต่างๆ ที่ไปเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของประเทศไทยไปสู่ระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ การแข่งขันดังกล่าวมีทั้งประเภทเดี่ยวและคู่ กลุ่มเล็ก ๔ – ๖ คน และกลุ่มใหญ่ แบ่งตามประเภทอายุ ต่ำกว่า ๙ ปี ต่ำกว่า ๑๒ ปี ต่ำกว่า ๑๕ ปี ต่ำกว่า ๑๘ ปี และไม่จำกัดอายุ โดยการแข่งขันแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ บัลเล่ต์คลาสสิก โมเดิร์น คอนเทมโพรารี่ เดมิ – คาแรคเตอร์ ซอง แอนด์ แดนซ์ เลียริเคิล เนชั่นแนล ฮิพฮอพ และแทพ
ซึ่งรางวัลแต่ละประเภทการแข่งขันประกอบด้วย ถ้วยอันดับ ๑ ถ้วยอันดับ ๒ ถ้วยอันดับ ๓ และรางวัลชมเชยได้รับริบบิ้น Honor นอกจากนี้ มีรางวัลถ้วยพิเศษคะแนนรวม ๒ รางวัล ได้แก่ คะแนนรวมบุคคลสูงสุด (Aggregate Cup) และโรงเรียนยอดเยี่ยมที่มอบให้สถาบันที่ได้รับคะแนนรวมสูงสุดจากการแข่งขัน (Best School Award) รวมทั้งมีรางวัลถ้วยพิเศษอีก ๑ รางวัล คือ แชมป์เปี้ยนชิพ Betty Tilley Champianship ซึ่งตัวแทนเด็กและเยาวชนไทยที่จะเข้าร่วมแข่งขันมีทั้งหมด ๒๑๑ คน และครูผู้ฝึกสอน ๓๘๘ คน รวม ๑๘๐ ระบำ ซึ่งเด็กและเยาวชนเหล่านี้ มาจากสถาบันการเต้นในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดที่ได้รับคัดเลือกจากการแข่งขันศิลปะการเต้นระดับประเทศ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 6th CSTD Thailand Dance Grand Prix 2019 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ – ๒๘ เมษายน ๒๕๖๒ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร