บอล วิทยา นำทีมทำเวิร์กช็อปส่งต่อองค์ความรู้การทำหนังให้คนรุ่นใหม่

    “บอล- วิทยา ทองอยู่ยง นำทีมคนวงการหนังระดับแถวหน้า จัดเวิร์กช็อป ถ่ายทอดความรู้ผ่านหนังให้โดนใจคนดู” เพื่อร่วมส่งต่อองค์ความรู้การสร้างภาพยนตร์ให้กับนิสิตนักศึกษา 8 ทีมที่ผ่านเข้ารอบโครงการประกวดหนังสั้นของ ปตท.สผ. หัวข้อ ความรู้สร้างคน พลังงานสร้างชาติ” จัดเต็มถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แบบไม่มีกั๊ก หวังปั้นคนรุ่นใหม่สู่วงการภาพยนตร์ ก่อนลุยสร้างหนังสั้นจริงในรอบชิงชนะเลิศ โอกาสอย่างนี้คงจะมีไม่บ่อยนักที่ บอล วิทยา ทองอยู่ยง ผู้กำกับชื่อดังของประเทศ จะมาถ่ายทอดประสบการณ์การทำภาพยนตร์ให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ กิจกรรมเวิร์กช็อป  “ถ่ายทอดความรู้ผ่านหนังให้โดนใจคนดู”  จึงถือเป็นประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ของเหล่านิสิตนักศึกษาผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 8 ทีม จากกว่า 60 ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในรอบคัดเลือก โครงการประกวดหนังสั้นหัวข้อ ‘วามรู้สร้างคน พลังงานสร้างชาติ’ ซึ่งจัดโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกช ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญในอ่าวไทย ที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง

    น้องๆ นิสิตนักศึกษาทั้ง 8 ทีมจะต้องทำหนังสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการผลิตก๊าซธรรมชาติโดยคนไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งก่อนจะสร้างหนังกันจริงๆ บอล วิทยา ได้มาส่งต่อความรู้และประสบการณ์ที่มีด้านการกำกับหนังให้น้องๆ ซึ่งความตั้งใจของบอล วิทยา นี้สอดคล้องกับแนวทางของ ปตท.สผ. ที่มีการส่งต่อองค์ความรู้ในการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้คนไทยสามารถที่จะผลิตพลังงานและสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้

 

    นอกจากนี้ ยังมีคนรุ่นใหม่ในแวดวงภาพยนตร์ ทั้ง อมราพร แผ่นดินทอง นักเขียนบทภาพยนตร์ระดับแถวหน้า และชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช ผู้กำกับหนังรุ่นใหม่ ที่มาร่วมถ่ายทอดวิชาความรู้ เพื่อให้น้องๆ เข้าใจกระบวนการทำงานด้านภาพยนตร์ พร้อมให้แนวทางและหลักคิดในการทำหนังที่สื่อสารความรู้ออกไป ให้ยังเป็นหนังที่ดูสนุกและได้ความบันเทิง แต่ได้ความรู้หรือสาระจากหนัง และไม่ได้ทำให้หนังสนุกน้อยลง

    โศภิษฐา โชติช่วง ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ปตท.สผ. กล่าวว่า “การจัดการประกวดหนังสั้นเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำหนังจากรุ่นพี่ในวงการ ซึ่งการถ่ายทอดความรู้เป็นเรื่องที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเรามองว่าความรู้สร้างคน และคนที่มีคุณภาพก็จะสร้างชาติที่เข้มแข็งในที่สุด นอกจากนี้ เราอยากให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสชีวิตของนักสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปฏิบัติภารกิจอยู่กลางอ่าวไทยเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าน้อง ๆจะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวนี้ออกมาได้น่าสนใจ เพื่อให้คนไทยได้เข้าใจว่าการที่คนไทยมีองค์ความรู้ในการผลิตพลังงานให้กับประเทศไทยได้ด้วยตัวเองนั้นมีความสำคัญอย่างไร

    บอล วิทยา เผยว่า “หัวใจของการส่งต่อองค์ความรู้ผ่านหนัง คือ การเข้าไปคลุกคลี เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจในความรู้นั้นๆ อย่างถ่องแท้ก่อน ต้องลองมองสิ่งที่จะอยากจะสื่อสารผ่านหนังในหลายๆ มิติ หลายๆ บริบท ด้วยมุมมองของคนในหลายๆ แบบ เพื่อให้ได้แง่มุมที่น่าสนใจ แล้วค่อยๆ สร้างเรื่องราวและตัวละครขึ้นมา ซึ่งเรื่องราวคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้หนังโดนใจคนดู แต่หากเราเริ่มต้นจากการสร้างเรื่องราวแล้วใส่ความรู้ลงไป อาจทำให้คนดูเกิดความรู้สึกว่าถูกยัดเยียด เมื่อผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์แล้ว อมราพร แผ่นดินทอง นักเขียนบทมือทอง ก็ได้ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ว่า ภาพยนตร์ คือ ส่วนผสมของประสบการณ์กับจินตนาการ หากเราไม่มีประสบการณ์ในเรื่องที่จะทำ ก็ต้องอาศัยเรียนรู้ประสบการณ์จากตัวจริง ยิ่งเก็บรายละเอียดมาใส่ในตัวละครได้มาก ก็จะยิ่งทำให้คนดูเชื่อว่าตัวละครนี้มีชีวิตอยู่จริงๆ ส่วนจินตนาการนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนเรื่องราวธรรมดาๆ ที่คนดูคาดเดาได้ ให้กลายเป็นความพิเศษแบบที่คนดูคาดไม่ถึง นอกจากโครงสร้างที่เป็นบิ๊กไอเดียของหนัง ที่จะทำให้คนดูจำได้แล้ว การใส่รายละเอียดลงไปในตัวละครก็จะทำให้เกิดความแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ และตัวละครก็จะเป็นที่จดจำ

 

    ปิดท้ายด้วย ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช อีกหนึ่งผู้กำกับระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่มาร่วมแนะนำเรื่องการผลิตภาพยนตร์ด้วย โดยกล่าวว่าสไตล์และทิศทางของหนังที่ตั้งใจไว้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทีมงานทั้งกลุ่มต้องมองเห็นหนังตัวเองในทิศทางเดียวกันว่าสไตล์หนังแบบไหน รวมถึงรูปแบบหนัง รูปแบบภาพ รูปแบบการตัดต่อ ควรมีตัวอย่างอ้างอิงเพื่อให้เข้าใจตรงกันก่อน เมื่อผลิตหนังออกมาก็จะได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่คิดไว้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับวิธีการบริหารจัดการกองถ่าย ควรวางแผนให้ครบถ้วนว่าจะออกกองกี่วัน ที่ไหน อย่างไร จึงจะคุ้มค่าที่สุด เพราะการออกกองแต่ละครั้งมีต้นทุนค่าใช้จ่าย

    ทั้งนี้ เยาวชนทั้ง 8 ทีม ที่เข้าร่วมการเวิร์กช็อป เป็นทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากการส่งผลงานผ่านการนำเสนอโดยสตอรี่บอร์ดในรอบแรกมาแล้ว ซึ่งบอล วิทยา นำสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจจากแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกช 3 สิ่ง คือ ชุดปฏิบัติการ หมวกนิรภัย และภาพแท่นบงกช โดยให้มีของทั้ง 3 สิ่งอยู่ในช็อตหนังสั้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังต้องถ่ายทอดเรื่องราวภารกิจของคนไทยในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับคนไทยทั้งประเทศได้ออกมาอย่างน่าสนใจด้วย

    กิจกรรม ”ถ่ายทอดความรู้ผ่านหนังให้โดนใจคนดู” นี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนทั้ง 8 ทีม ก่อนลงมือสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้นจากสตอรี่บอร์ดให้กลายเป็นผลงานจริง ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผลงานและตัดสินรางวัลปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ โดยโครงการประกวดหนังสั้นในหัวข้อ ‘ความรู้สร้างคน พลังงานสร้างชาติ’ มุ่งหวังที่จะสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านสื่อภาพยนตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการนำเสนออย่างมีศิลปะ ความงาม และความบันเทิง ด้วยการเรียนรู้จากมืออาชีพและฝึกฝนประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง พร้อมทั้งยังจะได้รับคำวิจารณ์ ข้อติชมและคำแนะนำที่สามารถนำไปพัฒนาผลงานต่อได้อีกด้วย สามารถติดตามรายละเอียดการประกวดได้ที่http://www.pttep.com www.pttepshortfilm.com และ http://www.facebook.com/pttepplc

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Copyright © 2016 MThai.com All rights reserved. หมายเลขทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์ : 0127114707040