ในการทำกิจการร้านอาหาร หลายคนอาจมองว่าการตกแต่งร้านคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดลูกค้า สามารถดึงความสนใจได้ตั้งแต่แรกเห็น แต่ยังมีอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือห้องครัว เพราะห้องครัวเป็นจุดเริ่มต้นของการนำส่งอาหารคุณภาพดีไปสู่ลูกค้า และยังเป็นสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบ ซึ่งหากแปลนครัวร้านอาหารไม่ดี ก็อาจส่งผลต่อคุณภาพในการทำอาหารให้ช้าลง จนเกิดปัญหามากมายตามมาได้ ดังนั้นการออกแบบแปลนครัวร้านอาหารให้ดี ใช้พื้นที่ได้เหมาะสมจึงมีความสำคัญต่อร้านอาหารมาก ซึ่งการออกแบบแปลนครัวร้านอาหารที่ดีควรทำการออกแบบโดยคำนึงถึงองค์ประกอบหลายส่วน ดังนี้
การออกแบบครัวส่วนพื้นที่เตรียมของ
หากเป็นครัวขนาดใหญ่ ที่ต้องผ่านการทำอาหารปริมาณมาก เช่น ครัวร้านอาหาร ครัวโรงแรม จะมีพื้นที่เตรียมที่เป็นส่วนที่พักวัตถุดิบที่ซื้อมา เพื่อทำการล้าง จัดแต่ง และทำความสะอาด ก่อนที่จะมีการจัดเก็บเพื่อนำมาใช้งานในการทำอาหาร การออกแบบแปลนครัวร้านอาหารที่ดีจึงควรมีครัวส่วนห้องเตรียมของ ซึ่งมีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องชั่ง ซิงค์ล้าง โต๊ะทำงาน ที่จัดเก็บมีด เขียง
การออกแบบครัวส่วนเก็บของสด
หรืออาจเรียกเป็นส่วนสต็อกของ โดยจะทำการจัดเก็ยของสดประเภทเนื้อ ปลา ผัก ซึ่งถ้าเป็นครัวร้านอาหารก็อาจจะใช้เป็น ตู้แช่ ขนาดกลาง หรือใหญ่ และหากเป็นครัวกลาง หรือครัวโรงแรมก็อาจจะเพิ่มขนาดเป็นห้องเย็นโดยเฉพาะเพื่อรองรับการบรรจุของปริมาณมาก และเพื่อให้การจัดเก็บเป็นระเบียบ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแล อีกทั้งยังประหยัดค่าไฟได้มากกว่าการใช้ตู้แช่ขนาดเล็กหลายตัว
การออกแบบครัวส่วนของแห้ง
ในส่วนนี้จะหมายถึงการเก็บพวกวัตถุดิบประเภทข้าวสาร เครื่องปรุง ซึ่งมักจะจัดเก็บด้วยชั้นวางของ 4 ชั้น เพื่อประหยัดพื้นที่ และจัดแบ่งของได้เป็นสัดส่วนง่ายต่อการหยิบใช้งาน เพราะหากมีจำนวนชั้นมากกว่านี้ ก็อาจจะทำให้ยากต่อการหยิบ เนื่องจากชั้นอาจมีความสูงมากเกินไปจนทำให้ลำบากในการหยิบจับ ควรทำเป็นห้องที่ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันสัตว์จำพวกหนู แมลงสาบ และให้มีอากาศถ่ายเทสะดวกไม่อับชื้น เพราะจะทำให้วัตถุดิบ หรือ ของที่เก็บไว้เกิดการเสียหายได้ สำหรับอุปกรณ์ครัว เช่น ถ้วยชาม หม้อ ก็ควรเก็บไว้ในตู้เพื่อป้องกันฝุ่น สัตว์ หรือ หากจัดวางบนโต๊ะก็ควรมีผ้าคลุมปกปิดให้เรียบร้อยเมื่อไม่ได้ใช้
การออกแบบครัวส่วนปรุงอาหาร
โซนปรุงอาหารเป็นอีกหนึ่งโซนที่สำคัญที่สุดในการแปลนครัวร้านอาหารโดยเป็นพื้นที่สำหรับประกอบการปรุงอาหาร ซึ่งจะมีอุปกรณ์ เช่น เตาผัด เตาทอด เครื่องดูดควัน ซิงค์ล้างจาน ตู้แช่เย็น เตาอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ แล้วแต่ประเภทของครัว โดยระยะในการจัดวางอุปกรณ์ควรห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตรเพื่อความสะดวกในการทำงาน ทำให้ไม่เกิดปัญหาเดินชนกันจนเกิดอุบัติเหตุเมื่อประกอบอาหาร