กรุงเทพฯ 5 กันยายน 2566 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าต่อเนื่องพลิกโฉมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นต่อยอดอัตลักษณ์สู่การเป็น “ผลิตภัณฑ์ไทยชั้นเลิศ” (Top Premium Product) ดึงภาคเอกชน กูรูธุรกิจชั้นนำร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงเพื่อพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะมีรายได้จากการจําหน่าย สินค้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อรายไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 พร้อมเปิดพื้นที่โชว์เคส 6 ชุมชนดีพร้อมแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ไทยชั้นเลิศเฟส 2 กว่า 40 ผลิตภัณฑ์ ในงาน DIPROM ไทยเลิศ 12 อัศจรรย์แหล่งผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม ระหว่างวันที่ 5 – 7 กันยายน 2566 ลานเมือง 2 เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม ชั้น G
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม มุ่งเน้นการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอันเป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการกระจายรายได้สู่ประชาชนและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ จึงเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนให้สามารถสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรและยกระดับมูลค่าห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการ ภายใต้นโยบายดีพร้อมโต ที่มุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน
โดยนำทรัพยากรในท้องถิ่น เทคโนโลยี นวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ให้เกิดความเข้มแข็งและความสามารถ ในการแข่งขัน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านผลิตภัณฑ์โดยการประยุกต์และต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เหนือกว่าผลิตภัณฑ์รูปแบบเดิมทั้งในด้านแนวความคิด วัตถุดิบ และกระบวนการ เพื่อสร้างคุณค่าทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจให้ผลิตภัณฑ์ตรงตามความต้องการของลูกค้าผ่านกิจกรรมประยุกต์ ต่อยอด ผลิตภัณฑ์ อัตลักษณ์ ภูมิปัญญา (TOP Premium Product) ภายใต้โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เฟส 2 อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการนำอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาดั้งเดิม วัฒนธรรมพื้นถิ่น ประยุกต์ ผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง มีอัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความโดดเด่น มีคุณค่าและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคพร้อมมุ่งสู่การแข่งขันและเติบโตในระดับสากล โดยในเฟส 2 นี้ ดีพร้อมได้รับความร่วมจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และเชื่อมโยงธุรกิจ อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, บริษัท จิ้วฮวด จำกัด (ซอสหอยนางรม ตราแม่ครัว) ร้านอาหารไบท์มีซอฟท์ลี่, บริษัท มาลา บูติก จำกัด และยง จี คิม อาร์ท สตูดิโอ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการ ส่งผลให้สามารถพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จำนวน 40 ผลิตภัณฑ์ จาก 6 ชุมชนดีพร้อมนำร่อง ประกอบด้วย
• ชุมชนบ้านสนวนนอก จ.บุรีรัมย์ เป็นการนำวัตถุดิบพื้นถิ่นอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วอย่างใบหม่อน ดักแด้ มาแปรรูปให้ชุมชนนี้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ อาทิ ใบหม่อนพาวเดอร์ ดักแด้ป๊อปรสลาบ สนูลกราวโซจู (สาโทหมักดอกไม้)
• ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านภู จ.มุกดาหาร เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เดิม ด้วยการใส่ไอดียความคิดสร้างสรรค์บนผืนผ้าฝ้ายทอมือย้อมครามผนวกกับวัฒนธรรมชาวภูไทดั้งเดิมรังสรรค์กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ ชุดสูทบุรุษ เสื้อสตรี และกระเป๋า
• ชุมชนบ้านนาหมอม้า จ.อำนาญเจริญ ชุมชนแห่งการทอเสื่อจากกก เป็นการประยุกต์จากทุนความรู้เดิม เพิ่มมูลค่าให้กับวัชพืชพื้นถิ่น และปรับให้กระบวนการผลิตนั้นใช้เวลาน้อยลง กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สร้างรายได้ให้ชุมชน อาทิ ฉากกั้น เก้าอี้ กระเป๋าดีไซน์เก๋
• ชุมชนบ้านรือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นการพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงานทั้งระบบ โดยการพัฒนาและสร้างสรรค์สินค้าใหม่ ๆ จากวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน อาทิ เนื้อแผ่นแห้ง น้ำพริกทูน่าฟู รสพริกแกง รวมถึงการเพิ่มมูลค่าและพัฒนาการออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์ Hand in Hand โดยการทดลองจำหน่ายสินค้าที่ประยุกต์จากทุนความรู้เดิมเรื่องการตัดเย็บและออกแบบ ลายผ้าและเติมความรู้ใหม่ ๆ จากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
• ชุมชนบ้านบางใบไม้ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นการแปรรูปจากมะพร้าว กลายเป็นผลิตภัณฑ์ แปรรูปต่าง ๆ ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ อาทิ ไอศครีมกะทิแท่ง คอนเฟลคมะพร้าว เกลือสปาจากกากมะพร้าว เทียนหอมกะลามะพร้าว
• ชุมชนบ้านทรายขาว จ.ปัตตานี เป็นการรังสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากส้มแขกและกล้วยน้ำว้า ซึ่งเป็นผลไม้วัตถุดิบในชุมชน กลายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปของฝากนักท่องเที่ยว อาทิ พายคุกกี้ส้มแขก เจลลี่ส้มแขก เค้กกล้วยน้ำว้าส้มแขก น้ำพริกกากกล้วย
นายใบน้อย กล่าวต่อว่า กิจกรรมดังกล่าว มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายกระจายรายได้ พัฒนา ประยุกต์ ต่อยอด เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานในระดับสากล ต่อยอดอดีตและปรับปัจจุบันให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ซึ่งดีพร้อมได้ดำเนินงานกิจกรรมฯ แบ่งออกเป็น 2 เฟส มีชุมชนดีพร้อมนำร่องทั้งหมด 12 ชุมชน 75 ผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการทั้ง 2 เฟส ได้รับการติดอาวุธทางธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มีผลประกอบการในระดับดี ผลิตภัณฑ์อยู่ในความต้องการของตลาด และผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นและแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อส่งผลิตภัณฑ์ออกไปแข่งขันในตลาดโลกหรือไปค้าขายในต่างประเทศได้ เมื่อพัฒนาไปถึงระดับนั้นแล้วจะมีส่วนช่วยทําให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการจะมีรายได้จากการจําหน่ายสินค้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อรายไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้จัดกิจกรรมทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน DIPROM ไทยเลิศ 12 อัศจรรย์แหล่งผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม เพื่อแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบและทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์หลังจากได้รับการพัฒนาจากดีพร้อมแล้ว โดยภายในงานจะมีการนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบมาทดสอบตลาด จำนวนกว่า 40 ผลิตภัณฑ์ จาก 6 ชุมชนดีพร้อมนำร่อง เฟส 2 และมีกิจกรรม D.I.Y. ให้กับผู้ที่สนใจภายในงานได้ทดลองสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ ชิม สินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของชุมชนดีพร้อม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 กันยายน 2566 ลานเมือง 2 เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม ชั้น G นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย