ปั้นจั่น แสดงเจตนาอยากอนุรักษ์ปลากระเบน ลั่น! มีความคิดเป็นของตัวเอง

  จากกรณีดราม่าร้อนๆ เรื่องรายการ มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ นำปลากระเบนนกมาเป็นวัตถุดิบให้ผู้เข้าแข่งขันใช้ทำอาหาร จนชาวโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก! กลายเป็นกระแสอยู่ขณะนี้ เพราะมองว่า “ปลากระเบน” เป็นสัตว์หายาก โดยกรณีนี้ทางดาราหนุ่ม ปั้นจั่น ปรมะ ก็ได้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางโซเชียลอย่างต่อเนื่อง โดยเผยปลากระเบนเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ต้องให้วิกฤติก่อน?? และตนมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เจตนาแค่อยากช่วยโลก ช่วยสิ่งมีชีวิต โดยโพสต์รัวๆ มาดังนี้

  “สำหรับนักดำน้ำคนที่รักทะเลกระเบนเป็นสัตว์ชนิดนึงที่สวยงามและใกล้จะสูญพันธุ์ ทุกอย่างเคยมีเยอะจนกระทั่งมนุษย์เลือกที่จะกินสิ่งมีชีวิตเกือบทุกอย่าง ( หมู เห็ด เป็ด ไก่ ก็น่าจะพอแล้ว ) #อยากแปลกไม่เเดกคนละครับ บางชนิดเราก็ยังหากินกันได้ถ้ามันมีเยอะถ้ากระกระเบนมันล้นโลกก็จับมากินกันเถอะครับเพื่อรักษาสมดุล”

  ”นี่ข้อมูลครับ มันไม่ผิดหรอกครับทางกฎหมาย จากเรื่อง eagle ray ทาง digitalay ขอสรุปประเด็นตามนี้นะโดยในตอนดังกล่าวมีการใช้ปลากระเบนเป็นวัตถุดิบหลักในการแข่งขันทำอาหาร ซึ่งการใช้ปลากระเบนทำอาหารนั้นเป็นเมนูปรกติของไทย และหลายชาติมานาน และไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรหากเป็นปลากระเบน (หรือสัตว์อื่นใดก็ตาม) ที่พบได้ทั่วไปและไม่ได้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ในภาพจะเห็นว่ามีการโชว์ปลากระเบนตัวใหญ่ (ตัวบนสุดลายจุดๆ) ซึ่งน่าจะเป็นกระเบนนก Aetobatus ocellatus หรือ กระเบนค้างคาว Aetobatus narinari

  ปัญหาคือ 1. ทั้งสองตัวนี้ถูกจัดอยู่ใน IUCN Red List of Threatened Species หรืออยู่ในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของโลก ปลากระเบนนก Aetobatus ocellatus ถูกจัดอยู่ในระดับ Vulnerable (เท่ากับเต่ามะเฟือง) — ปลากระเบนค้างคาว (หรือปลายี่สน หรือ กระเบนเนื้อดำ) Aetobatus narinari ถูกจัดอยู่ในระดับ Near Threatened (เทียบเท่ากับนกเงือกหลายๆ ชนิดในไทย) การที่นำ eagle ray มาเป็นวัตถุดิบนั้นในแง่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ไม่ต่างอะไรกับการนำเต่ามะเฟือง หรือ นกเงือก มาทำอาหารเลย

  2. ข้อมูลของกรมประมงบ่งชี้ว่า อัตราการจับได้ของกระเบนในประเทศไทยลดลงกว่า 70% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงมากกว่าฉลามด้วยซ้ำ นั่นแปลได้ว่า กระเบนเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามจนจำนวนประชากรลดลงอย่างน่าตกใจ แม้จะมีข้อมูลดังกล่าว แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองกระเบนทั้ง 2 ประเภทนี้ ดังนั้นการที่รายการจะใช้กระเบนดังกล่าวจึงไม่ผิดกฎหมายใดๆ ในทางปฏิบัติแล้วการนำสัตว์ใกล้สูญพันธุ์มาใช้ประกอบอาหารออกรายการโทรทัศน์นั้นเหมาะสมหรือไม่ ลองชั่งน้ำหนักกันดูด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ครับ /เอ้

  ขอเพิ่มเติมเรื่องการเพาะเลี้ยง eagle ray จากข้อมูลโดยคุณ Shin Arunrugstichai Photography ครับ Eagle ray เคยเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงได้ครั้งแรกช่วงยุค 80 ที่ Aquarium ในญี่ปุ่น และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่อังกฤษใน Aquarium เช่นกัน ปัจจุบันยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงแบบฟาร์มสำหรับการพาณิชย์ได้ครับ” ข้อความจาก ปั้นจั่น ปรมะ

 ทั้งนี้ทางรายการ มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ เองก็ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ ไว้ดังนี้ “ในการนำเสนอวัตถุดิบปลากระเบน ในรายการมาสเตอร์เชฟประเทศไทยในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ปลากระเบนดังกล่าวคือ ปลายี่สน หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ปลากระเบนเนื้อดำ หรือปลากระเบนค้างคาว ถือเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารในหลากหลายเมนู อาทิ ปลายี่สนฟู ปลากระเบนดำแดดเดียว ต้มยำเนื้อปลากระเบนดำ และโดยเฉพาะปลากระเบนหวาน ซึ่งมีขายแพร่หลายตามท้องตลาด รวมทั้งใน Website Shopping Online ทั่วไป อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบของอาหารไทย อาทิ ข้าวแช่โดยเป็นเครื่องข้าวแช่ที่เรียกว่า ปลายี่สนผัดหวาน ในปัจจุบันเมนูดังกล่าวยังติดอันดับ OTOP 5 ดาว ของจังหวัดเพชรบุรี อีกด้วย”

  ”ในความเป็นจริงแล้ว ปลายี่สน หรือปลากระเบนเนื้อดำนี้ ได้ถูกนำเสนอในรายการอาหารทางโทรทัศน์หลากหลายช่องมาโดยตลอด รายการมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทยมิใช่รายการแรกที่นำเสนอวัตถุดิบชนิดนี้ ทางรายการฯ มีจุดยืนในการนำเสนอวัฒนธรรมการรับประทานอาหารและให้ความรู้ด้านต่างๆ ในการประกอบอาหาร วัตถุดิบที่ใช้ในการถ่ายทำแต่ละครั้งคือวัตถุดิบทั่วไปที่ใช้ในการประกอบอาหารจริงและหาซื้อได้ในท้องตลาด รายการฯ ไม่มีนโยบายในการนำสัตว์ต้องห้ามมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ดังนั้นหากมีวัตถุดิบพิเศษ ทางรายการจึงยึดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบทุกครั้ง สุดท้ายนี้ ทางรายการขอขอบคุณทุกความคิดเห็น และจะนำข้อคิดต่างๆ ไปพัฒนารายการต่อไป”

ขอบคุณ ภาพและข้อมูลจากไอจี punjanprama และเพจรายการ มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์

 

 

 

 

ปั้นจั่น ปรมะ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Copyright © 2016 MThai.com All rights reserved. หมายเลขทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์ : 0127114707040