บรรยากาศเป็นไปอย่างโศกเศร้า สำหรับพิธีสวดอภิธรรมนักแสดงและผู้กำกับชื่อดัง ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง จากไปอย่างสงบในวัย 59 ปีด้วยโรคมะเร็งตับเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (10 มิถุนายน 2563) โดยพิธีสวดอภิธรรมจัดขึ้นในวันนี้ ณ ศาลาเศรษฐี วัดนาคปรก ซึ่งภรรยา เปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง พร้อมด้วยพี่ชายแท้ๆ ของ ตั้ว ศรัณยู อย่าง เอก ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ให้สัมภาษณ์เปิดใจเล่าอาการป่วยตั้งแต่วันแรกจนถึงวินาทีสุดท้ายของ ตั้ว ศรัณยู ที่ผ่านมาไม่เคยบอกใคร เพราะไม่อยากให้คนอื่นเป็นห่วง
เปิ้ล “ก่อนอื่นต้องขอโทษที่อาจจะไม่ได้มาอธิบายอะไร พี่ตั้วอยากจะดูแลสุขภาพของตัวเอง ไม่ได้เปิดเผยหรือบอกใคร อาการจากตอนที่เขาเจ็บหนักครั้งแรกกระดูกสันหลังข้อที่ 3 ยุบลงไป หมอก็เลยตรวจอย่างละเอียด ต้องขอบคุณหมอทีมรพ.จุฬาฯ ตอนนั้นปวดหลังแล้วพบว่ากระดูกข้อที่ 3 ยุบลง ก็เกือบจะผ่าตัด แต่หมอดูแล้วยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพราะกระดูกตรงอื่นยังแข็งแรงอยู่ แล้วสาเหตุมาจากอะไร มันมีลิ่มเลือดด้วย ก็เลยตรวจร่างกายอย่างละเอียดจะได้รู้”
เปิ้ล “หมอก็เรียกไปคุยว่าค่าตับขึ้นสูง ทราบมาก่อนหรือเปล่าว่าตับมีปัญหา เราก็บอกว่าทราบ เพราะพี่ตั้วเป็นไวรัสตับอักเสบบี จริงๆ เป็นตั้งแต่ก่อนแต่งงานแล้วนะคะ แต่พี่ตั้วก็ดูแลตัวเองมาตลอด เขาเช็คร่างกายมาตลอด แต่ 2 ปีหลังไม่ได้เช็คร่างกาย ปรากฎว่าสิ่งที่อยู่ในตับโตขึ้น ไวรัสตับอักเสบบีกลายเป็นมะเร็ง เราก็รับรู้ตั้งแต่แรก ตัวเองก็คงรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไงทั้งที่เขาดูแลสุขภาพ สุดท้ายก็ลามไปที่กระดูก จากกระดูกข้อที่ 3 แล้วก็ไปอีกที่ แล้วก็ลามมาที่สะบัก รักษามาเรื่อยๆ ค่ะ”
เปิ้ล “ตอนเข้าไปที่จุฬาฯ หมอบอกว่าน่าจะอยู่ในระยะที่ 3 น่าจะรักษาได้ ให้ยาคุมการกระจายของตับก่อน ให้ยาไปทั้งหมด 6 เข็มถือว่าใช้ได้ พี่ตั้วสามารถกลับมาทำงานต่อได้ ช่วงเดือนก.พ. ไปกำกับละครที่ทำค้างอยู่ได้ และเปิดละครเรื่องใหม่ได้ด้วย หลังจากนั้นรู้สึกปวดสะบัก ปวดขาก็เลยต้องกลับไปหาคุณหมอ หมอบอกว่าต้องพักแล้ว เพราะมีเรื่องกระดูกทรุดเพิ่ม ทำการฉายแสง หลังจากนั้นตัวตับมันใกล้กับท้องกับกระเพาะ ทำให้เขารู้สึกว่าทานอาหารแล้วพะอืดพะอม ไม่ค่อยอยากทานอาหาร ประกอบกับเช็คร่างกายมาแคลเซียมสูง เมื่อแคลเซียมสูงมันไปทำลายระบบความคิด การพักผ่อน ไม่อยากกินไม่อยากนอน”
เปิ้ล “ตอนแรกอาการดีขึ้นแล้ว จากที่เข้าไปรักษาครั้งแรกเดือนต.ค. รู้สึกว่าตัวเองช้าๆ อ่อนเพลีย พอเดือนก.พ. ดีขึ้น ออกกองได้หลายครั้งเหมือนกันค่ะ อาการน่าจะเริ่มทรุดหลังจากที่เริ่มปวดสะบักมากขึ้น ต้องไปฉายแสงมากขึ้น ช่วงนั้นเราทุกคนเจอวิกฤตโควิดพอดี ดูแลตัวเองกันดีกว่าเลยไม่ได้บอกใครมาก อาจจะมีคนทักว่าพี่ตั้วผอมลง เขาก็ไม่ได้พูดอะไร ทุกคนเจอภาวะความเครียดเรื่องโควิดอยู่แล้ว สไตล์พี่ตั้วเขาก็ดูแลตัวเองกันดีกว่า”
เปิ้ล “ล่าสุดที่เข้ารพ. เพราะทานไม่ได้ น้ำหนักเริ่มลด แคลเซียมสูง พี่ตั้วตื่นมาเขาจะพูดบางอย่าง กองถ่ายมาพร้อมรึยัง จะเริ่มถ่ายรึยัง กล้องกี่ตัว เขารู้สึกคิดถึงงาน เราก็บอกว่าพี่ตั้วนี่เราพักผ่อนอยู่ที่บ้านนะ หมอให้พัก 6 เดือนถึงจะทำงานได้ เขารู้สึกว่าเขาต้องออกไป แต่ตอนนี้เป็นช่วงโควิดทุกคนต้องพักกอง หลังจากนั้นพี่ตั้วทานอาหารไม่ได้ก็ต้องปรึกษาหมอ เข้ารพ. เมื่อวันพุธที่แล้วเอง อาการตอนนั้นหมอเอ็กซเรย์ปอด จากที่ติดเชื้อปอดนิดเดียว เขามีนัดทำ CT scan เพื่อเปลี่ยนยาตัวใหม่ แต่สุดท้ายเชื้อมาที่ปอดด้วย”
เปิ้ล “ก็เร็วนะคะ การมารพ.ครั้งนี้น่าจะทำให้เขาแข็งแรงขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมเช็คร่างกายสำหรับการเปลี่ยนยา ไม่ได้คิดอะไรเลย พี่ตั้วพูดช้าลง เนื่องจากว่าแคลเซียมสูง ระบบความคิดอาจจะช้าลง แต่ยังพูดได้ พอเจอหมอยังบอกเลยว่าอยากกลับไปเหมือนเดิม หมอเริ่มบอกว่าพี่เปิ้ล พี่ตั้วอยากเจอใครเป็นพิเศษมั้ยก็เลยโทรหาพี่ชายพี่ตั้ว”
เอก “เรารู้ตอนนั้นเลย รู้ว่าเข้ารพ. ก็คุยกับตั้ว คุยกันเป็นชั่วโมงเลย ตั้วบอกว่าไม่มีอะไรเดี๋ยวอีก 10 วันเจอกัน อันนั้นเมื่อเดือนที่แล้ว แล้วมารู้อีกทีจากที่เปิ้ลบอกว่า เริ่มกินไม่ค่อยได้ คือพี่ตั้วไม่บอกใครเลย ตั้วเป็นคนแบบนี้ ไม่อยากให้คนอื่นเดือดร้อน เขาก็เงียบๆ แก้ปัญหาด้วยตัวเอง ญาติพี่น้องไม่มีใครรู้เลย ไม่บอกลูกด้วยกลัวลูกเป็นห่วง บอกลูกรู้ตอนหลัง เขาเข้มแข็งอดทนแก้ปัญหาด้วยตัวเองพอดีขึ้นเดี๋ยวค่อยเล่าให้ฟัง ได้พูดคุยกันช่วงนึง อาการก็โอเค ถึงแม้จะพูดช้าลง แต่รับรู้ได้ทุกอย่าง ได้ยิน ใช้ยักคิ้ว ยกมือได้ โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายที่ตั้วจะไป”
เอก “จริงๆ แล้วเป็นเรื่องดีมากนะสำหรับส่วนตัว เคยเห็นคนที่จะจากลาไปจะมีอาการต่างๆ นานา ใช้เวลาเยอะ แต่ตั้วนอนนิ่งเหมือนหลับไปเฉยๆ เราคุยว่าตั้วหลับไปก็ได้นะถ้ามันเหนื่อย ไปตื่นที่ไหนก็ไม่รู้ ลูกเมียทุกคนอยู่ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมาอยู่กันหมด เหมือนไปเที่ยวต่างประเทศทุกคนมาส่งสนามบิน ไม่มีใครต้องห่วง ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสให้ตั้วดู ทุกคนทำได้ดีมากทั้งลูกทั้งเปิ้ล สุดท้ายตั้วค่อยๆ ไป”
เอก “ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นหมอบอกว่าเขาพยายามสู้ กราฟคงที่มาก 2-3 วันสุดท้าย พอ 6 โมงหลังจากทุกคนมาครบถ้วนแล้ว ทุกคนลงตัวอยู่ในความสงบกันหมด ประมาณทุ่มกว่าเขาก็ค่อยๆ ลง เราก็คุยกันไปเรื่อยๆ บอกตั้วหลับให้สบายนะหลังจากสู้มาเยอะแล้ว อยากนอนเมื่อไหร่ตัดสินใจเองเลยนะตั้วนะ เขาก็ค่อยๆ ลงมา ไม่มีอาการเหมือนจะยื้ออีก ที่ผ่านมาพยายามสู้ สุดท้ายแล้วไปดีกว่า สบายๆ พาพวกเราสงบไปด้วย เขาเป็นคนแบบนี้แหละไม่อยากให้ใครเดือดร้อน อยู่รพ. 6 วันทุกอย่างเรียบร้อย แถมยังทำให้ญาติพี่น้องกลับทันเคอร์ฟิวส์อีก ไม่ได้เป็นภาระอะไรเลย เสียประมาณ 19.20-19.22 น. ที่เราเห็นกัน แต่คุณหมอลงเวลา 19.30 น. ฝากฝังกับเราไม่มีเลย กับเปิ้ลเดี๋ยวให้เปิ้ลเล่า”
เปิ้ล “ก่อนจะเข้ารพ. เขาก็คุยไปเรื่อยๆ คุยเรื่องละคร ตกลงหมอให้พัก 6 เดือน คุยกับทางทีมรึยัง เขาจะเป็นห่วงเรื่องงานเยอะ ลองดูว่าใครจะมาช่วยพี่ตั้วกำกับแทนบ้าง ละครที่ทำค้างอยู่เหลืออีกไม่กี่คิว เขาก็บอกว่ามันเป็นงานที่เขากำกับมาตั้งแต่แรกก็ต้องทำให้จบสิ แล้วก็เรื่องลูก น้องหนุนจบแล้วใช่มั้ย น้องหนุนน้องหนังวางแผนชีวิตยังไง เปิ้ลต้องทำความฝันที่คิดให้เป็นความจริงนะอย่าท้อ ก็คุยกันเรื่อยๆ ตอนอยู่รพ. ก็ยังคุยว่าเปิ้ลต้องพยายามทำสิ่งที่เราอยากทำให้เป็นความจริงให้ได้ อย่าท้อแม้มันจะลำบาก”
เอก “เปิ้ลเข้มแข็งมากนะ อันนี้ยืนยันเราอยู่ในเหตุการณ์ ทุกอย่างก็ต้องมาที่เปิ้ล ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เปิ้ลค่อยๆ ทีละอย่าง”
เปิ้ล “จริงๆ มันต้องเข้มแข็งตั้งแต่คนถามแล้วว่าพี่ตั้วเป็นยังไงบ้าง พี่ตั้วไม่อยากให้ใครต้องมาวิตกกังวล เพื่อนต้องมาเยี่ยมต้องโทรมามั้ย เป็นเรื่องที่เราต้องแก้ปัญหากันเอง ทุกคนมีปัญหาของตัวเองอยู่แล้ว บางทีเราก็ต้องเก็บไว้ แม้กระทั่งญาติพี่น้องบางคนเราก็ไม่ได้บอกเลย”
เปิ้ล “พี่ตั้วใจสู้ เห็นตั้งแต่ครั้งแรกที่หมอบอกแล้ว เขาก็บอกว่าเขาสู้มาตลอด ทำตามที่หมอบอกออกกำลังกายทีละนิด ค่อยๆ ฝึกเดิน กายภาพบำบัด ดูแลอาหารเป็นพิเศษ ถามหมอว่า ผมลองเช็คร่างกายอีกทีนึงแล้วผมออกกองได้มั้ย หมอบอกว่าได้แต่อย่าหักโหมนะ เขาอยากทำงาน พี่คิดว่าเขาห่วงเรื่องงานเพราะงานเขาค้างอยู่ คุยกันแล้วว่าเดี๋ยวจะมีผู้กำกับมาช่วย”
เปิ้ล “ตอนนี้ลูกๆ น้องหนุนเรียนจบแล้ว อยู่ในช่วงโควิดพอดีอาจมีการเลื่อนทำธีสิสบ้าง จริงๆ แล้วตอนแรกต้องทำธีสิสเป็นละครเวทีหนึ่งเรื่อง พ่อก็ช่วยเขียนช่วยอะไร พอมีโควิดก็เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน พี่ตั้วยังบอกเลยว่าต้องไปงานรับปริญญาน้องให้ได้ ส่วนน้องหนังกลับมาจากเกาหลีพอดี แล้วยังไม่ได้กลับไปเพราะเป็นช่วงโควิด ก็เลยได้อยู่ต่อดูแลคุณพ่อ ถามว่าน้องๆ จะสานต่องานคุณพ่อยังไงบ้าง พูดตามตรงเราไม่ได้คิดว่าพี่ตั้วจะไปกะทันหัน ยังคุยกันเลยว่าปีนี้วางแผนจะไปหาน้องที่เกาหลีตอนไหน รอพี่ตั้วหายดีจะไปเที่ยวทะเลเพราะเราชอบทะเล”
เปิ้ล “จริงๆ พี่พร้อมเรื่องของการทำงานหนัก พร้อมลุยงาน สภาวะจิตใจอาจจะมีบ้าง บางทีเราก็รู้สึกว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ จริงๆ เหรอ คุณหมอเคยพูดแล้วล่ะค่ะว่าถ้ายาตัวแรกที่ฉีดไป 6 เข็มโต้ตอบได้ดี เขาก็จะเปลี่ยน เพราะยาตัวใหม่จะคุมเรื่องกระดูกกับปอด ยาตัวที่ 2 อาจจะไม่ค่อยเข้ากับพี่ตั้วเท่าไหร่ อาจจะมีการแกว่ง ก็คิดว่าน่าจะอยู่ได้ยาวนานกว่านี้ อย่างน้อยงานรับปริญญาลูกปลายปี หรือได้ไปเกาหลีเยี่ยมน้องหนัง”
เปิ้ล “ความภูมิใจต่อสามี พี่ตั้วเป็นคนมีหลายบุคลิกนะคะ เป็นคนทำงาน เป็นคนจริงจัง สไตล์เขาเรื่องส่วนตัวคือส่วนตัว ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปิด แต่ทุกคนก็มีภาวะความเครียดที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ทำไมเราต้องเอาเรื่องเราไปให้คนอื่นอีก เขาเป็นน่ารัก อยู่ด้วยแล้วสบายใจ แม้เขาเป็นคนเข้มๆ เป็นคนจริงจัง”
เอก “ภูมิใจในตัวน้องชายคนนี้มาก จริงๆ ทุกคนรู้จักตั้วดีอยู่แล้วว่าเป็นอย่างนั้น ทำอะไรจริงจัง ทำเพื่อผู้อื่น โดยไม่ได้คิดถึงตัวเองสักเท่าไหร่ เก็บความรู้สึกเอาไว้ แก้ปัญหาด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ รักครอบครัว ดูแลลูกเมียพ่อแม่ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงทุกคน คือความภูมิใจอย่างที่สุดของการเป็นพี่ชาย ภูมิใจที่สุด เป็นเรื่องธรรมชาติเกิดแก่เจ็บตาย มาเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ทุกคนช็อก เราก็ช็อก แต่ช็อกแป๊บเดียวก็พอ เราก็ดูไว้เป็นอุทาหรณ์ สิ่งนี้อาจเกิดกับใครก็ได้แม้กระทั่งตัวเราเอง ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้นได้ ใช้เวลาทุกขณะทุกวันทุกเวลาด้วยความไม่ประมาท ฝากแฟนๆ ของตั้วที่รักและห่วงใยตั้ว ลองมองตั้วเป็นอุทาหรณ์ เกิดเป็นบุญกุศลส่งให้ตั้วได้”
เปิ้ล “ขอบคุณแฟนละครของพี่ตั้ว คือพอเข้าไปอ่านในเพจบนโลกออนไลน์ที่เขียนถึงพี่ตั้ว อ่านแล้วก็ซาบซึ้ง ขอบคุณพี่น้องในวงการเขียนไว้อาลัย โทรศัพท์มา บางทีพี่เปิ้ลอาจจะไม่ได้รับต้องขออภัยด้วย และขออภัยที่เราไม่ได้บอก บางคนบอกว่าทำไมไม่รู้เลย ทำไมไม่บอกเลย บางทีเราคุยกันพี่ตั้วเขาก็ขออยากทำให้แข็งแรงก่อนแล้วค่อยบอก ถ้าเขาสู้ได้เขาจะบอกเอง อย่างที่บอกช่วงที่เขานอนรพ. เขาไม่เจ็บไม่ทรมาน ถามว่าปวดมั้ย หมอจะได้ให้ยา ไม่ปวดเลย อาจจะหายใจเร็วบ้าง แต่กราฟก็ดีจนถึงวินาทีสุดท้าย แม้ความดันจะต่ำลง ให้เราพูดกับเขาเป็นครั้งสุดท้าย เราทุกคนต้องไม่ชะล่าใจ บางทีเรามีอะไรนิดหน่อยที่เราดูแลอย่างดี ต้องตรวจเช็คสุขภาพร่างกายสม่ำเสมอ สุดท้ายแล้วช่วงเวลาที่อ่อนแอมันก็เกิดขึ้นได้ตลอด”