เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว ที่ “ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ” (นาโนเทค) ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย โดยมีภารกิจหลักในการนำศักยภาพของนาโนเทคโนโลยีไปใช้ในการสร้างประโยชน์ให้กับภาคส่วนต่างๆ ของสังคมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น รวมถึงการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็ง สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงให้กับประเทศจากปัจจุบันและอนาคต
ความสำเร็จประการสำคัญที่ถือเป็นจุดเด่นของศูนย์นาโนเทค สังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็คือการให้ความสำคัญกับแนวคิด และการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยรุ่นใหม่กับองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทำให้กลายเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน และที่สำคัญตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ นำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแพร่พลาย
ในการเสวนาหัวข้อ Nanovation Perspective ภายในงาน “15 ปี NANOVATION Move Forward to Better Future” จัดโดย ศูนย์นาโนเทค สวทช. ซึ่งได้มีการพูดคุยร่วมกันกับ นักวิจัยรุ่นใหม่ถือเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์และความสำเร็จในการนำความรู้ของนักวิจัยมาบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมได้เป็นอย่างดี
ดร.คทาวุธ นามดี นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการระบบนำส่ง หนึ่งในนักวิจัยรุ่นใหม่ของนาโนเทค กล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานของนักวิจัยอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงจากในอดีตอยู่บ้าง โดยจะมุ่งที่ความสำเร็จไปในการนำงานวิจัยออกไปใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น นักวิจัยจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปค้นหาถึงจุดที่เกิดปัญหา แล้วจึงกลับมาคิดว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ที่มีมาดัดแปลงหรือแก้ไขในส่วนใดได้บ้าง ภายใต้การนำศักยภาพด้านต่างๆของประเทศซึ่งเป็นจุดแข็งที่สำคัญมาปรับใช้ การทำงานแบบนี้ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพราะช่วยให้นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงซึ่งเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งการทำงานโดยมีเป้าหมายเช่นนี้ทำให้เห็นว่ายังมีช่องว่างในการที่จะนำนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ หรือ นาโนเทคโนโลยีเข้าไปใช้ได้อีกมาก
“หนึ่งเมืองไทยมีทั้งการเกษตร สองก็คือทางการแพทย์ซึ่งได้รับการยอมรับ สามก็คือในเรื่องของภูมิประเทศไทยจะอยู่ใน จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการทำโลจิสติกส์ ซึ่งถ้าเรามองหาจุดอุตสาหกรรมตรงนี้ จะเห็นว่ามีช่องว่างที่นวัตกรรมนาโนจะเข้าไปอีกค่อนข้างเยอะ” ดร.คทาวุธ กล่าวพร้อมกับเห็นด้วยว่า การทำงานวิจัยโดยมุ่งไปเรื่องของ Simple และ Practical โดยผ่านกระบวนการคิดที่ลึกซึ้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดถือเป็นหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จ และไม่เพียงจะสามารถตอบโจทย์ให้กับสังคม แต่ยังช่วยสามารถถ่ายทอดและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้กว้างขวางมากขึ้นด้วย
ด้าน ดร.สุวัสสา บำรุงทรัพย์ นักวิจัยรุ่นใหม่จากห้องปฏิบัติการโมเลกุลเป้าหมาย เห็นว่า ปัจจุบันการทำงานในเชิงของวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถือเป็นประเด็นสำคัญโดยมองว่าหากต้องการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจและสังคม เบื้องต้นประชากรต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพที่ดี ซึ่งนาโนเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพ ด้านการแพทย์ สามารถช่วยแก้ปัญหาได้โดยตรงเพราะสามารถที่จะลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งลดมูลค่าการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่เกิดขึ้นปีละจำนวนมาก นั่นคือการที่นักวิจัยมองเห็นปัญหา และพยายามที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับการอนุภาคนาโนเข้าไปพัฒนาการตรวจและรักษามะเร็ง หรือ targeted cancer therapy ที่องค์กรวิจัยทั่วๆโลกพยายามทำอยู่ ก็คือพัฒนาอนุภาคนาโนที่สามารถจับจำเพาะกับมะเร็งเป้าหมายได้ ซึ่งจะมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยในเรื่องของการผ่าตัดของแพทย์จากการระบุตำแหน่งของมะเร็งได้จำเพาะเจาะจงตรงนี้ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดรักษาได้ดีขึ้น ซึ่งหมายถึงการรักษาที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยนั่นเอง
ในขณะที่ ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ จากห้องปฏิบัติการเคลือบผิวนาโน ก็แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันโดยเห็นว่าการทำงานของนักวิจัยปัจจุบันจะต้องเริ่มจากโจทย์ปัญหาและความต้องการของลูกค้า หรือภาคอุตสาหกรรมว่าต้องการอะไรเพื่อให้สามารถทำงานวิจัยได้ออกมาได้ตรงจุด และสามารถนำไปใช้จริงได้ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่มาจากทางปลายทาง โดยใส่ความรู้เกี่ยวกับนาโนเข้าไปแล้วพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานวิจัยไปสู่เป้าหมายและประสบความสำเร็จได้
“อันดับแรกเราต้องทำโจทย์ที่คนต้องการ แล้วก็สองต้องทำให้สังคมรับรู้ว่าจริงๆแล้ววิทยาศาสตร์ช่วยผลักดันทำให้ผลิตภัณฑ์มันดีขึ้น และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นสองจุดนี้ ทำให้สังคมทางวิทยาศาสตร์มันพัฒนาขึ้นได้” ดร.ธันยกร กล่าว
จากแนวคิดและประสบการณ์ของนักวิจัยรุ่นใหม่ทั้งสามท่าน ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดตลอดระยะเวลา 15 ปีของการทำงานของ “ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ” จึงสามารถสร้างงานวิจัยหลากหลายรูปแบบเพื่อช่วยแก้ปัญหา รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนได้อย่างกว้างขวางสมกับเจตนารมณ์ของการก่อตั้งองค์กรมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง