อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี โดย นายสราวุธ สุวรรณจูฑะ นายอำเภอวังม่วง จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ รวมทั้งได้ลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นประจำหมู่บ้านและของดีขึ้นชื่อที่ต้องแวะซื้อแวะหาติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากของที่ระลึก ซึ่งทางจังหวัดสระบุรีได้ประเมินและเล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่ ที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ต.วังม่วง อ.วังม่วง นั่นคือ หมู่บ้านคลองกระทิง หมู่บ้านหนองไทร และหมู่บ้านท่าฤทธิ์ สามหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี ที่มีความชัดเจนในเรื่องของอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นชัดเจน และมีความน่าสนใจ
หมู่บ้านคลองกระทิง เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีเชื้อสายลาวแง้ว ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไทย-ลาว ที่ถูกกวาดต้อนมาจากอาณาจักรลาว ชาวแง้วเดิมมีถิ่นฐานอยู่ใน เขตชนบทชานเมืองเวียงจันทน์ โดยถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ช่วงสงครามระหว่างสยามกับลาว ต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2369-71 (สมัยเจ้าอนุวงศ์ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3) ที่ได้มีการกวาดต้อนชาวลาวจากหัวเมืองพวน เมืองเชียงขวาง เมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตหัวเมืองชั้นในของภาคกลางตั้งแต่จังหวัดลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี ชาวลาวแง้ว มีภาษา ลาวแง้วเป็นภาษาพื้นที่ถิ่นดั้งเดิม ที่หมู่บ้านคลองกระทิงจึง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแบบลาวและไทยผสมผลานกลมกลืน เป็นเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวต่างรู้สึกประทับใจเมื่อได้มาสัมผัส ที่ยังมีอาหารพื้นที่ถิ่น ที่อยากจะเชิญชวนมาลิ้มลอง อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเรือสมุนไพร น้ำพริก ลวกหน่อไม้ฝรั่ง แก่งไก่บ้านใส่หยวกกล้วย ผัดเผ็ดไก่ นึ่งปลา ขนมข้าวโพด ขนมฟักทอง เมล่อน นอกจากนี้ยังมีการแสดงวัฒนธรรมลาวแง้วคลองกระทิง เป็นการแสดงที่สื่อถึงวิถีการดำเนินชีวิตของชาวลาวแง้วคลองกระทิง ประกอบไปด้วยวิถีชีวิตการทอผ้า การจักสานเครื่องมือหาปลา ประเพณีที่น่าสนใจของหมู่บ้านคลองกระทิงที่สืบทอดกันมายาวนานต่อเนื่อง ก็คือ ประเพณีไหว้ศาลปู่ตาหลักบ้าน ช่วงขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 (พฤษภาคม) เป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านคลองกระทิง เคารพนับถือที่อยู่คู่บ้านคลองกระทิงมาตั้งแต่ก่อตั้งบ้านชาวก็จะประกอบพิธีบวงสรวงตามความเชื่อ วิถีชีวิตของชาวบ้านคลองกระทิง ยังมีประเพณีพื้นถิ่นและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ จึงน่าจะเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่น่าเข้ามาท่องเที่ยว และเรียนรู้ ตามสโลแกนชุมชนท่องเที่ยวของบ้านคลองกระทิง คือ “หัตถกรรมพื้นถิ่น นาฏศิลป์พื้นบ้าน สืบสานตำนานคลองกระทิง”
หมู่บ้านหนองไทร ดั้งเดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าดงพญาไฟ ดงพญาเย็น และชาวบ้านได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตรงนี้และมีการขยายหมู่บ้านใหญ่ขึ้น โดยจะมีอยู่ 2 กลุ่มบ้าน คือบ้านวังยางและบ้านหนองไทร ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ย้ายมาจากหลายชาติพันธ์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ สลับที่สูงเนินภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไร่เกษตรกรรม มีลำน้ำตกวังยางไหลผ่านเป็นแนวตะวันออกสู่ตะวันตกไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ด้านตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งทำการประมงบ้านหนองไทร นอกจากจะมีความโดดเด่นทางด้านธรรมชาติแวดล้อม มีทิวทัศน์ งดงามแล้ว ภูมิปัญญาที่โดดเด่นของชาวบ้านหนองไทร คือ การจักสานจากไม้ไผ่ทำเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งเป็นลวดลายที่เกิดจากวิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านหนองไทร และที่นี่ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับบ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งยังพบว่าชาวบ้านมักไปขอพรและนำมาดื่มแล้วหายจากอาการเจ็บป่วย และความเชื่อของซับอีผ่องที่มีน้ำผุดไหลออกไม่หยุดชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำวิเศษ และยังมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับความศรัทธาหลวงพ่อน้ำทิพย์ และวังวังยาง ให้ได้มาเรียนรู้และสัมผัส ตามสโลกแกน“Unseen ดอกเข้าพรรษา รวมศรัทธาวังยางศักดิ์สิทธิ์ ปลาดุกเศรษฐกิจชุมชน”
หมู่บ้านท่าฤทธิ์ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่เริ่มก่อตั้งเป็นหมู่บ้านตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่งที่สวยงาม เนื่องจากเป็นชุมชนชนบทติดริมเขื่อนป่าสักอันสวยงาม ชุมชนอยู่กลางไร่สวนอันเขียวขจีสวยงาม สภาพพื้นที่เป็นเนินภูเขาสวยงาม บ้านเรือนชาวบ้านที่ยังคงเป็นบ้านเรือนโบราณ ชุมชนสะอาด ภูมิทัศน์ดี อาทิ ถนนวิวเขื่อนที่ทอดตัวยาวขนานไปกับเขื่อนป่าสักฯ นักท่องเที่ยวสามรถมาเช็คอิน ถ่ายภาพ ชมพระอาทิตย์ยามเย็น หรือเลือกที่จะไปนมัสการพระพุทธรูปเก่าแก่ที่วัดท่าฤทธิ์ (หลวงพ่อศรี) หรือจะไปกราบนมัสการหลวงพ่อป่าใหญ่ชลสิทธิ์ ก็อยู่ไม่ห่างกันมากนัก ความโดดเด่นของหมู่บ้านท่าฤทธิ์ ก็คือ การจักสานจากใบลาน ภูมิปัญญาการทำข้าวต้มลูกโยน เป็นหนึ่งใน 8 เสน่ห์ ที่ท้าให้นักท่องเที่ยวให้มาสัมผัส ตามสโลแกนของสโลแกนชุมชนท่องเที่ยวบ้านท่าฤทธิ์ ที่ว่า “นิวซีแลนด์แห่งสระบุรี วิถีชน ริมป่าสัก เอกลักษณ์ลานทอง”
เรียกว่ามาที่ตำบลเดียวได้ความสุขครบทุกอารมณ์ ทั้ง “อิน” กับประเพณีและวัฒนธรรมเก่าแก่ “ฟิน” กับธรรมชาติที่สวยงาม และต้องไม่พลาด “เช็คอิน” กับวิวพ้อยท์สวยๆ ของแต่ละหมู่บ้าน และ “ชิม” อาหารพื้นถิ่นแบบดั้งเดิม สุดท้ายก่อนกลับ “ช้อป” สินค้าคุณภาพดีฝีมือชาวบ้านติดไม้ติดมือเป็นของฝากและของที่ระลึก