สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ 20 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ศูนย์แบรนด์เคยู คณะบริหารธุรกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 16 มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จัดงานแถลงข่าวความสำเร็จโครงการ “นิลมังกร รุ่น 1” พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการไทยทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และธุรกิจเพื่อสังคมจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ “นิลมังกร รุ่น 2” ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้จากวิทยากรและเมนเทอร์มืออาชีพผ่านกิจกรรมอบรมเชิงเชิงปฏิบัติการแล้ว ยังมีโอกาสได้เป็น “นิลมังกร” ระดับภูมิภาคพร้อมเงินรางวัล 200,000 บาท เพื่อเป็นตัวแทนเข้าชิงแชมป์ “นิลมังกร” ระดับประเทศ และเงินรางวัล 2,000,000 บาท
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “โครงการการแข่งขันสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย หรือ “นิลมังกรแคมเปญ” มีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในระดับภูมิภาค (Regionalization) ที่มุ่งเน้นการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการภูมิภาคให้เติบโตเป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้าง โดยอาศัยการสื่อสารรูปแบบ Edutainment ภายใต้ชื่อ “นิลมังกร The Reality” ออกอากาศทางช่อง 7 HD เพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจและเข้าถึงการพัฒนานวัตกรรมได้ง่ายขึ้น โดยร่วมกับภาคีทั้ง 20 หน่วยงาน ในการสนับสนุนองค์ความรู้ เครือข่าย แนวทางการสร้างตราสินค้า ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมอื่นๆ ในการสร้าง “นวัตกรสายพันธุ์ไทย” จากทุกภูมิภาคของประเทศให้สามารถเติบโตและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าในช่วงระยะเวลาการแข่งขัน 3 เดือน นอกจากนี้ NIA ยังให้ความสำคัญกับการรับรู้แบรนด์หรือตราสินค้าธุรกิจนวัตกรรมของผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีม จึงได้ใช้เครื่องมือการประเมินมูลค่าแบรนด์ คือ การประมาณมูลค่าทางการเงินทั้งหมดของแบรนด์ โดยแบรนด์ถือเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ที่มีมูลค่าสูง สามารถประเมินได้ 4 แนวทาง ได้แก่ แนวทางต้นทุน แนวทางของตลาด แนวทางรายได้ และแนวทางลูกค้า ซึ่งผลประเมินมูลค่าแบรนด์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังออกอากาศได้ค่าเฉลี่ยมูลค่าแบรนด์ (Brand Value) เป็นค่าความนิยมของแบรนด์จากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการมีมูลค่าแบรนด์อยู่ที่ 50 ล้านบาท และหลังเข้าร่วมโครงการมีการเติบโตของมูลค่าแบรนด์เพิ่มสูงขึ้น มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8 เท่า”
“นิลมังกร สะท้อนถึงผู้ประกอบการไทยที่มีความแข็งแกร่ง อดทน ปราดเปรียว มีพลังความสามารถ เสมือน “ม้านิลมังกร” ในวรรณคดีไทยที่เป็นม้าวิเศษ หรือสุดยอดแห่งม้าในจินตนาการของคนไทย จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ประกอบการไทยทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และกิจการเพื่อสังคมที่มีการใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้มีความโดดเด่นและแตกต่าง โดยอาศัยอัตลักษณ์ของพื้นที่จนสามารถสร้างมูลค่าและตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้าง ช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับท้องถิ่นและเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 และวิกฤตการณ์ระหว่างรัสเซีย–ยูเครน สำหรับ “นิลมังกรทีมแรกของประเทศไทย” ได้แก่ ทีมไฮด์แอนซีค (Hide and seek) ตัวแทนภาคกลางจากจังหวัดกรุงเทพมหานคร เจ้าของผลงาน “นวัตกรรมทรายแมว” ที่ผลิตจากมันสำปะหลังธรรมชาติ 100% ซึ่งเกิดการเติบโตทางธุรกิจมากกว่า 5 เท่าจากการเข้าร่วมโครงการ “นิลมังกร” ถือเป็นตัวอย่างในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมและใช้เครื่องมือทางด้านนวัตกรรมมาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่จะส่งผลกับผู้ประกอบการภูมิภาคและประชาชนทั่วไปเกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของพื้นที่” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า “นิลมังกรแคมเปญเป็นแพลตฟอร์มที่ผสมผสานระหว่างการฝึกอบรมให้ความรู้ การวิเคราะห์ปัญหา การนำรูปแบบหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจมาช่วยแก้ไขปัญหา หรือการนำเสนอกลยุทธ์ใหม่ให้กับการทำธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการที่ลงมือทำจริงมีสินค้าหรือบริการแล้ว และต้องการเติบโต โดยอาศัยกลยุทธ์และเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ Creative Innovation, Business Model และ Branding & Storytelling ในรูปแบบของการลงไปทำงานในพื้นที่ร่วมกับผู้ประกอบการจริง และสร้างแบรนด์เพิ่มเติม เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและสามารถขยายหรือสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ ตลอดจนเป็นต้นแบบหรือเป็นฮีโร่ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่สร้างนวัตกรรมทั้งสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและตลาดได้อย่างตรงจุด สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด และสร้างการเติบโตของธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เมื่อจบกิจกรรม NIA ได้ทำการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจและ/หรือมูลค่าทางสังคมเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ใช้ในโครงการ พบว่ารายได้ที่เติบโตขึ้นในระหว่างการออกอากาศ มากกว่า 4 เท่า และคาดว่าในปี 2565 จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงถึง 18.24 เท่า รวมถึงเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย สำหรับการจัดแข่งขันสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยระดับภูมิภาค รุ่นที่ 2 นี้ เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ – 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อเฟ้นหาธุรกิจนวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์ของพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจด้วยโปรแกรมการพัฒนาองค์ความรู้เชิงลึกในด้านนวัตกรรม การบริหารจัดการ และการสร้างแบรนด์ของธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ชิงรางวัลมูลค่ากว่า 200,000 บาท โดยสามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ที่ https://regional.nia.or.th และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage : Thailand Inno Biz Champion
ผศ. ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในหลากหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่มาต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม เพื่อช่วยสร้างกลยุทธ์ และมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการของไทย สำหรับความร่วมมือกับ NIA ในโครงการ “นิลมังกรแคมเปญ” นี้ นับเป็นความสำเร็จทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบ่มเพาะผู้ประกอบการให้สามารถฝ่าวิกฤตทางเศรษฐกิจและยังสามารถสร้างการเติบโตทั้งยอดขายและมูลค่าแบรนด์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า “ธุรกิจที่มีนวัตกรรมและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ยังสามารถเติบโตได้” ในส่วนรุ่น 2 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้ มหาวิทยาลัยก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาเทคนิคและวิธีการในการบ่มเพาะและโค้ชชิ่งผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมทุกรายให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สง่างาม และยั่งยืนต่อไป”