เปิดรับสมัครแล้ว!!! สตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่มีของ!!! แก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้แก่ภาคการเกษตร อย่าพลาดโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ AgTech Connext 2022 เชื่อมโยงและเร่งสร้างการขยายธุรกิจให้เป็นที่รู้จักอย่างก้าวกระโดด พร้อมเรียนรู้ และทดสอบการใช้งานจริง
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการพัฒนาและเร่งสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรม รวมถึงการสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ ได้ริเริ่มโครงการแพลตฟอร์มเชื่อมโยงเกษตรกรกับสตาร์ทอัพด้านการเกษตรสู่การเป็นเกษตรกรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี มีชื่อเรียกโครงการสั้นๆ ว่า AgTech Connext โดยมีความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัพเกิดการเติบโตและเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีของสตาร์ทอัพ
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาสตาร์ทอัพรายสาขา เพื่อสร้างการเติบโตในสาขาเศรษฐกิจเป้าหมายของประเทศ โดยได้สร้างแพลตฟอร์มพัฒนาการเติบโตและลงทุนสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น ที่มีกิจกรรมการพัฒนาและบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการกับทุกภาคส่วนในระบบนิเวศฯ ทั้งนี้ สตาร์ทอัพด้านการเกษตร (AgTech Startups) เป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจสำคัญตามแผนการพัฒนาสตาร์ทอัพรายสาขาของ สนช. เนื่องจากภาคเกษตรมีความสําคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างสูง โดย สนช. ได้ดำเนินงานการพัฒนาและเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรของประเทศไทย ผ่านการยกระดับความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ตลอดห่วงโซ่มูลค่าทางการเกษตร และขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรด้วยแนวคิดแบบวิสาหกิจเริ่มต้น ดังนั้น การสร้างสะพานเชื่อมเพื่อพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นด้านเกษตรได้มีโอกาสในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน อีกทั้งสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ จึงมีความสำคัญยิ่ง
โดยได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรประกอบด้วยหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ ในการเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการเทคโนโลยี หน่วยงานให้การสนับสนุนเงินทุนกับเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หน่วยงานพร้อมสนับสนุนเงินร่วมลงทุนให้กับสตาร์ทอัพอย่างบริษัท อินโนสเปรซ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งภาคเอกชนทั้งจากบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้มอบเครดิต AWS Cloud ให้แก่สตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกมูลค่า 300,000 บาท ให้กับสตาร์ทอัพที่นำเสนอผลงานการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมไปใช้งานจริงกับเกษตรกร
จากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ได้มีสตาร์ทอัพเกษตร 14 รายนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาในภาคเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมาร่วมแสดงฝีมือผ่านเวที AgTech Connext และเกิดการจับคู่ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพสู่เกษตรกร ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพเป็นเกษตรแม่นยำ สร้างตลาดออนไลน์ใหม่ให้กับสินค้าเกษตร รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพในการต่อยอดและเชื่มโยงการทำงานร่วมกัน ที่มีความท้าทายด้านระยะเวลา และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ #SpermSpeed น้ำเชื้อว่องไว “ผลิตภัณฑ์พลาสเตอร์กระตุ้นความเป็นสัดของโคและน้ำเชื้อโคคัดเพศที่มีความแม่นยำสูงด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ, # อีเด็น อะกริเทค “สารเคลือบยืดอายุผัก ผลไม้ และผลไม้ตกแต่ง” และอัลจิบา “เครื่องนับลูกสัตว์น้ำ รวดเร็ว แม่นยำ และมีหลักฐานการนับ”
ดร. กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการ AgTech Connext 2022 ที่ปีนี้จะเพิ่มหน่วยงานพันธมิตรจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าไทย เพื่อเชื่อมต่อไปยังกลุ่มธุรกิจเกษตรให้ขยายการใช้งานให้มากขึ้น นับได้ว่า เป็นก้าวสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงและกระตุ้นภาคการเกษตรให้หันมาใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหามากขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สอดคล้องกับวาระแห่งชาติ “BCG Model” และจะนำไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจทางการเกษตรรูปแบบใหม่ที่สามารถเจริญเติบโตอย่างทั่วถึงบนการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
มาร่วมเป็นพลังการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพลิกโฉมการเกษตรไทย…เปิดรับสมัครสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการพร้อมขยายตลาดให้เติบโตไปด้วยกัน โดยสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ ตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2565
อย่ารอช้าจนพลาดโครงการดีๆ สมัครได้ที่ http://agtechconnext.nia.or.th/ หรือติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่คุณกุลิสรา บุตรพุฒ (เบลล์)- โทรศัพท์ : 02-017 5555 ต่อ 552- มือถือ : 084-2294994 – อีเมล : [email protected]