“แหวนแหวน” ร่วมงาน “ความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น

Home / ข่าวและกิจกรรมดารา / “แหวนแหวน” ร่วมงาน “ความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น

ผ่านไปแล้วสำหรับงานแถลงข่าว “ความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นที่ที่มีผลบวกต่อตัวรับฮอร์โมน (hormone receptor, HR) และผลลบต่อตัวรับชนิด human epidermal growth factor receptor (HER2)” ที่จัดขึ้น ณ ห้อง Ballroom 3 โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดย พญ.ชาฮีน่า ดาวูด แพทย์ผู้เชียวชาญและที่ปรึกษาด้านโรคมะเร็ง จาก Mediclinic Middle East ประเทศ UAE ร่วมด้วย ศ.ดร.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านม หัวหน้าศูนย์เต้านม โรงพยาบาลเมดพาร์ค และศัลยแพทย์ด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลเจ้าพระยา โดยมี แหวนแหวน- ปวริศา เพ็ญชาติ รับหน้าที่พิธีกร พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ตรง หลังเคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม และใช้เวลารักษาตัวมานานกว่า 5 ปี 

 “โรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย จากข้อมูลในปี พ.ศ.2563 พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 49 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน หรือคิดเป็น 13 คนต่อวัน ซึ่งแนวโน้มคาดการณ์ว่าในปีนี้ พ.ศ.2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คน อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งเต้านมสามารถตรวจวินิจฉัยพบได้ในระยะเริ่มต้นถึงร้อยละ 90 ทั้งนี้ร้อยละ 70 มักจะเป็นชนิดที่มีผลบวกต่อตัวรับฮอร์โมน การรักษามะเร็งเต้านมระยะแรก ประกอบไปด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อออก โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ร่วมกับการรักษาเสริมตามปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ระยะของโรค ข้อมูลทางชีวโมเลกุล ตามการแสดงออกของยีนผิดปกติในเซลล์มะเร็ง ระดับของโปรตีนที่ผิดปกติบางชนิดในเซลล์มะเร็ง รวมทั้งปัจจัยทางร่างกายของผู้ป่วยและการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งการรักษามักจะประกอบไปด้วย การรักษาด้วยยาฮอร์โมน ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา และการรักษาด้วยยาพุ่งเป้า ( Targeted Therapy ) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาถึงความเสี่ยงของผู้ป่วยรายบุคคล 

ศ.ดร.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ กล่าวว่า “เป้าหมายสูงสุดของการรักษาโรคมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นคือการป้องกันไม่ให้มะเร็งเกิดเป็นซ้ำและแพร่กระจาย รวมถึงการช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น  อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยกว่าร้อยละ 20 มักเกิดโรคซ้ำและอาจนำไปสู่โรคมะเร็งระยะแพร่กระจายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด และทำให้เสียชีวิตได้ต่อมา ผู้ป่วยที่มีการเกิดโรคซ้ำและเกิดการแพร่กระจาย มักจะเกิดภายในใน 2-3 ปี หลังได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นที่มีความเสี่ยงสูง ในช่วงที่ผ่านมาการรักษาด้วยยาฮอร์โมนเสริมเป็นเวลาประมาณ 5 ปี เป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดที่มีผลบวกต่อตัวรับฮอร์โมนระยะเริ่มต้นในปัจจุบันนี้การรักษาเสริมด้วยยาฮอร์โมนร่วมกับยาพุ่งเป้า ( Targeted Therapy ) ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการกลับมาเป็นซ้ำจะช่วยลดความเสี่ยงการกลับเป็นซ้ำและกระจายของโรคได้”

ด้าน แหวนแหวน- ปวริศา เพ็ญชาติ เล่าประสบการณ์ตรงว่า “แหวนเป็นหนึ่งในผู้ที่มีประสบการณ์มะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุแค่ 23 ปี ต้องบอกว่าเป็นความโชคดีที่เจอเร็วมากๆและรักษาได้ทันท่วงที จนทุกวันนี้พูดได้ว่าหายแล้ว 99.99% ทำให้รู้เลยว่าโรคมะเร็งเต้านมนั้นอยู่ใกล้ตัวเรามาก และเจอในคนอายุเด็กลงทุกวัน อยากบอกผู้หญิงทุก ๆ คนว่าอย่ากลัวการตรวจมะเร็งเต้านม อย่ามองเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะถ้าคุณยิ่งเจอช้า การรักษายิ่งยากและโอกาสในการหายน้อยลง ไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมกันเยอะๆนะคะ”