Home / ข่าวและกิจกรรมดารา /

• อะไรคือเหตุผลทำให้ทั้งสอง ร่วมกันก่อคดีฆาตกรรม 

• และในท้ายที่สุด หนึ่งในนั้น จะขอพักโทษได้สำเร็จและได้รับอิสรภาพหรือไม่?

• ต้องติดตาม! #Thrillmebangkok 

ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโรงละครศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุโกมล ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร นำเสนอละครเวทีอักษรฯ เรื่องแรกของปี 2566 เชิญชวนทุกท่านมาร่วมไขคดีฆาตกรรมปริศนา ผ่านเรื่องราวซับซ้อน และเสียงเพลง ใน “Thrill Me The Musical” ละครเวทีมิวสิคัล ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคดีอาชญากรรมที่โด่งดัง และเคยเกิดขึ้นจริงในชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อค.ศ.1924 หรือเมื่อ 99 ปีก่อน

“Thrill Me: The Leopold & Loeb Story” เขียนโดย Stephen Dolginoff (สตีเว่น ดอลกานอฟ) นักเขียนบทละครชาวอเมริกัน เจ้าของผลงาน Off-Broadway musical ชื่อดัง ที่ได้แรงบันดาลใจจากคดีฆาตกรรม บ๊อบบี้ แฟรงค์ ลูกชายมหาเศรษฐี วัย 14 ปี ณ เมืองชิคาโก หายตัวไประหว่างเดินทางกลับจากโรงเรียน ต่อมาครอบครัวของบ๊อบบี้ แฟรงค์ได้รับจดหมายเรียกค่าไถ่เป็นจำนวนมาก  เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนให้ความสนใจคดีนี้จนตำรวจสามารถตามจับกุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ได้สำเร็จ เรียกได้ว่าเป็น “อาชญากรรมแห่งศตวรรษ” เนื่องจากเป็นคดีฆาตกรรมที่ถูกกล่าวขวัญว่า “ไร้แรงจูงใจ” เพราะ “ทำไปเพื่อความสนุกเร้าใจ” โดยคนสองคน คือ นาธาน ลีโอโพลด์ และ ริชาร์ด โลบ 

นจำนวนมาก  เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนให้ความสนใจคดีนี้จนตำรวจสามารถตามจับกุมตัวผู้ที่เกี่ย

“Thrill Me The Musical” ถูกนำไปเปิดแสดงในหลายประเทศตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อาทิ ออสเตรเลีย

เกาหลี ญี่ปุ่น เยอรมัน สเปน กรีซ และในที่สุดก็ถูกหยิบยกขึ้นมาแสดงในประเทศไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในครั้งนี้จะเป็นการนำเหตุการณ์ในอดีตมาตีความใหม่ ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละคร และ ปริศนาว่าด้วยแรงจูงใจ ที่ใครหลายคนต้องการคำตอบ กำกับการแสดงโดย ภัสสร์ศุภางค์ คงบำรุง อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยฝากผลงานกำกับไว้ใน Blink (2565), The Children’s Hour, Breaking the Code, An Inspector Calls และ The Pillowman แปลคำร้องเป็นภาษาไทย โดยนักแปลเพลงมากฝีมือ ธานี พูนสุวรรณ เจ้าของผลงานแปลเพลงในภาพยนตร์การ์ตูน จากค่ายดิสนีย์ เช่น Disenchanted, Encanto, Frozen ฯลฯ และผลงานแปลเพลงมิวสิคัลเรื่องดังอย่าง ‘มิสไซง่อน’ กำกับการร้องและดนตรี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.จารุณี หงส์จารุ และนำแสดงโดย  

กาย-ทรงสินธ์ ศิริคุณารัศม์ รับบทเป็น นาธาน ลีโอโพลด์  ซึ่งกาย ปัจจุบันเป็น Product Designer นักร้อง และนักแสดงอิสระ ผู้ผ่านผลงานด้านละครเวทีมิวสิคัลมาอย่างโชกโชน อาทิ เฟม เดอะ มิวสิคัล ดรีมเกิร์ลส์  มอม เดอะ มิวสิคัล ราตรีที่สิบสอง ซ้อน A New Musical และน้ำเงินแท้ เดอะ มิวสิคัล  และ แทน-เท่าฟ้า มณีประสพโชค รับบทเป็น ริชาร์ด โลบ แทนเป็นเจ้าของผลงานละครเวทีมิวสิคัลมากมาย อาทิ เรยา เดอะมิวสิคัล, หนึ่งในดวงใจ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล, ซูสีไทเฮา เดอะมิวสิคัล, แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล, น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล, สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล, สูตรเสน่หา เดอะมิวสิคัล, Be Your Size ฯลฯ และนักเปียโน เฟรนด์-วริสรา ตระกูลมณี

ภัสสร์ศุภางค์ คงบำรุง ผู้กำกับละครให้สัมภาษณ์ว่า “แต่ละประเทศทำละครเรื่องนี้ออกมาได้ไม่เหมือนกันเลย เพราะ Mood และ “ความ Thrill” ของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละวัฒนธรรมว่าจะตีความความสัมพันธ์นี้ออกมาอย่างไร และเนื่องจาก Thrill Me ของเราในปีนี้ มีผู้กำกับเป็นคนไทย คนแปลเพลงเป็นคนไทย นักแสดงก็เป็นคนไทย เราจึงนำประสบการณ์ ในบริบทไทยของพวกเรามาช่วยในการสร้างผลงานชิ้นนี้ “ความ Thrill” ในแบบของเราเลยถูกสร้างมาจากความเข้าใจในแบบของคนไทย และคนไทยที่มารับชม ก็สามารถเข้าใจและสนุกไปกับละครของเราได้อย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ยังมีการเสวนาพิเศษหลังจบรอบการแสดง 14.00 น. นำโดย รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ  

ผศ.ดร.พันพัสสา ธูปเทียน ผู้กำกับการแสดง ครูสอนการแสดงและกำกับการแสดง และอาจารย์ประจำสาขา Media and Communication วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาฯ  

ละครเวที “Thrill Me The Musical” เตรียมเปิดการแสดง 25 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ทาง Ticketmelon จำกัดเพียงรอบละ 100 ที่นั่งเท่านั้น 

* การแสดงนี้ เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป จัดแสดงเป็นภาษาไทย และไม่มีคำบรรยายภาษาอังกฤษ

ละครเวที ทริลมีเดอะมิวสิคัล ทั้ง 12 รอบการแสดง

25-27 ตุลาคม 2566 (พุธ-ศุกร์ 19.30 น.)

28 ตุลาคม 2566 (เสาร์ 14.00 น. และ 19.30 น.) / 29 ตุลาคม 2566 (อาทิตย์ 14.00 น.)

31 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2566 (อังคาร-พฤหัสบดี 19.30 น.)

4 พฤศจิกายน 2566 (เสาร์ 19.30 น.) / 5 พฤศจิกายน 2566 (อาทิตย์ 14.00 น. และ 19.30 น.)