ทนายเจมส์ เจมส์ นิติธร

ตำแหน่งพ่อ – แม่ – ลูก ลาออกไม่ได้! ฟังข้อกฎหมายจาก ทนายเจมส์ ว่าด้วยเรื่อง ฟ้องหย่า!!

Home / Hot Gossip / ตำแหน่งพ่อ – แม่ – ลูก ลาออกไม่ได้! ฟังข้อกฎหมายจาก ทนายเจมส์ ว่าด้วยเรื่อง ฟ้องหย่า!!

  ต้องบอกว่าเรื่องราวปัญหารักร้าวของคู่ สามี-ภรรยา มีมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่คู่รักในวงการบันเทิง ที่เมื่อชีวิตคู่มีปัญหา ถึงทางตัน หาทางออกไม่ได้ สุดท้ายแน่นอนว่าต้องมีการพึ่งพากระบวนการทางกฎหมาย จนไปถึงขั้นมีการ ฟ้องหย่า กันเลยทีเดียว ซึ่งบางครอบครัวไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของสามีและภรรยา เพราะบางครอบครัวมีลูก พอเกิดการฟ้องหย่า ก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิ์ในการปกครอง เลี้ยงดูลูก ซึ่งในจุดนี้ก็มีคำถามที่เป็นเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในโลกโซเชียลว่า ตกลงแล้วคนเป็นแม่หรือพ่อ มีสิทธิ์ที่จะปกครองลูก และมีสาเหตุอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดการ ฟ้องหย่าวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ ของคดีเยาวชนและครอบครัว วันนี้เรามีข้อมูลจาก ทนายเจมส์ นิติธร แก้วโต ทนายความชื่อดัง ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  สาเหตุ หรือ ปัจจัย ใดบ้างที่ สามี-ภรรยา จะฟ้องหย่า?

         “เอาอย่างนี้นะ  คือใช้คำว่าคู่สมรสดีกว่า เพราะจะได้เป็นทั้งผู้หญิง ผู้ชายฟ้องได้  ก็คือเหตุเนี่ยมันจะต้องเป็นไปตามมาตรา 1516  มาตรา 1516 คืออะไร คือประมวลกฎมายเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ประกอบไปด้วยมีทั้งหมด 10 สาเหตุ ทีนี้หลักๆ ที่เจอกันบ่อยเลยในวงการนะครับ”

1. (1) คือการที่สามี หรือภรรยา ยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภรรยา เป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจินต์ อันเนี่ยอีกฝ่ายสามารถฟ้องหย่าได้ สามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภรรยา สังเกตดีๆ นะครับ กฎหมายเขาใช้คำว่า ยกย่องผู้อื่น เพราะฉะนั้นในความหมายของคำนี้นะครับคือ สามีไปยกย่องผู้ชาย เสมือนเป็นเมีย หรือเป็นผัวเขา ภรรยาสามารฟ้องหย่าได้ แต่เมื่อก่อนมันไม่ได้ใส่คำว่า ผู้อื่น เข้ามา มันก็เลยเกิดปัญหาตอนหลังๆ มาเนี่ยผู้ชายไปยกย่องผู้ชายด้วยกันก็ไม่ผิด ฟ้องหย่าไม่ได้ ผู้หญิงไปยกย่องผู้หญิงด้วยกัน ก็ไม่มีความผิด ก็ฟ้องหย่าไม่ได้ ทีนี้กฎหมายก็เลยแก้ เอาเป็นใช้คำว่า ผู้อื่น เลย พอแก้เป็นคำว่า ผู้อื่น ปั๊บ มันไม่มีเพศไง ผู้หญิงไปยกย่องผู้ชายก็เป็นความผิด ผู้ชายไปยกย่องผู้ชายด้วยกันให้เป็นเมีย หรือเป็นผัวก็เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ก็นอกจากนี้ก็มีอีกเยอะเลย ในมาตรา 1516 

2. (2) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญา หรือไม่ก็ตามเช่น กระทำความขายหน้าอย่างร้ายแรง เช่น แบบผมเมาแล้วผมชอบแก้ผ้าอย่างเนี่ย นอนอยู่บ้าน ผิดกฎหมายมั้ย คือบ้านผมอ่ะ ผมก็เดินล่อนจ้อนอยู่ในบ้านผมอย่างเนี่ย คือถ้าคุณเป็นภรรยาหรือสามี แล้วสามีหรือภรรยาคุณปฏิบัติตัวแบบนี้ คุณก็อายคนข้างบ้าน อายคนโน่น คนนี้ ก็เป็นเหตุฟ้องหย่าได้นะครับ

หรือได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินควรนะครับ อย่างเช่น โอ้โห้ๆ คุณไม่เคยดูแลลูกเลย ให้แต่ผมดูแล ผมก็เหนื่อยนะ ทำงานเหมือนกัน คุณนั่งเล่นแต่เฟซบุ๊ค อันนี้ก็เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ แต่ในที่นี้มันก็ต้องดูนะว่าเขาเล่นอะไรยังไง บางทีเขาไม่ได้เล่นเฟซบุ๊คเฉยๆ นะ เขาอาจขายของ ก็ต้องดูให้ละเอียด เพราะฉะนั้นกฎหมายเขาถึงใช้คำว่า เสียหาย หรือเดือดร้อนเกินควรไง เกินกว่าที่จะเป็นคู่กันแล้วนะครับ อย่างที่ผมบอกแหละ บางทีความคิดเห็นไม่ตรงกัน อย่างเช่น ต้องการให้ลูกเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน สมมตินะว่าผัวต้องการให้เรียนโรงเรียนดีๆ แต่มันอยู่โคตรไกล แต่ตัวเองก็ไม่ไปส่ง แล้วภรรยาที่ต้องเอาลูกตื่นต้องแต่ตี 5 เสร็จก็เอาลูกไปส่งโรงเรียน แล้วแบบเนี่ยโอเคคุณหวังดีกับลูกก็จริง แต่มันทรมานร่างกายอีกฝ่าย แบบนี้ก็เป็นเหตุได้เหมือนกัน คือเขาเรียกว่าความคิดเห็นไม่ลงรอยกันนะครับ

3. (3) ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทนะครับ หมิ่นประมาทผัว หมิ่นประมาทเมีย หรือไปหมิ่นประมาทบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งก็เข้า (4) สามีหรือภรรยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี  (5) สามีหรือภรรยาถูกสั่งให้เป็นผู้สาบสูญก็เป็นเหตุได้

6. (6) สามีหรือภรรยา ไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรก็เข้าเหมือนกัน  อย่างเช่นอีกฝ่ายหนึ่งเงินเดือน 50000 แต่อีกฝ่ายเงินเดือน 10000 แต่ว่าอีกฝั่งเงินเดือนเยอะกว่าไม่ให้ แทนที่ตัวเองได้เงินเดือนเยอะกว่า แทนที่จะช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวแต่กลับไม่เอา เอาไปปรนเปรอตัวเอง เอาไปเที่ยวกลางคืนอะไรอย่างเนี่ยอันนี้ก็เป็นเหตุได้

สมมติ กรณีสามีทำงานได้เงินเดือนเยอะ แต่ไม่เลี้ยงดูภรรยากับลูก สามารถฟ้องได้ไหม?

     “ฟ้องได้ๆ ครับ เพราะถือว่าคุณไม่เลี้ยงดูฉัน ให้ฉันเอาเงินเดือนอันน้อยนิดของฉันซื้อของเข้าบ้านทุกเดือนเลย หรือว่าเลี้ยงดูลูกทุกเดือนเลยอย่างเนี่ยนะครับ”

7. (7) คือวิกลจริต (8) ผิดทัณฑ์บน คือเป็นเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้อภัยแล้วนะ ให้ปรับปรุงตัว แต่ว่ามีอีกฝ่ายมาทำผิดสัญญา ทำผิดทัณฑ์บนก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้เหมือนกันนะครับ เพราะว่าสัญญากันไว้แล้วนี่ (9) เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง อย่างโรคเอดส์ หรือโรคผู้หญิงอะไรแบบนี้ (10) สามีหรือภรรยามีสภาพของร่างกายไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล ให้ย้ำนะครับว่าตลอดกาล (หมายถึงว่าไม่สามารถมีเซ็กซ์ได้?) ถูกครับ คือฟ้องหย่าได้เหมือนกัน

ในการฟ้องหย่า มีกรณีไหนที่คนส่วนใหญ่ถามกันมาเยอะ?

      “ประเด็นที่ถามกันเยอะๆ เลยคือจำเป็นมั้ย ฝ่ายที่มีตังค์เท่านั้น ถึงจะได้เลี้ยงลูก ตอบได้เลยครับ ว่าไม่จำเป็น ศาลท่านไม่ได้ดูฐานะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ศาลไม่ได้ดูฐานะของพ่อหรือแม่เป็นหลัก ศาลดูที่ความอบอุ่นเป็นหลัก ใครที่สามารถให้ความอบอุ่น สามารถเลี้ยงลูกได้ดี ศาลให้คนนั้นครับ เขาเอาผลประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง คุณมีตังค์ แล้วคุณเอาลูกไปไว้กับคนงานพม่า คนงานเขมรอย่างเนี่ย ศาลท่านก็ไม่ให้ เพราะฉะนั้นศาลท่านจะให้ใครก็แล้วแต่ที่เลี้ยงลูกเอง ดูแลลูกด้วยตัวเอง ฝั่งที่มีตังค์ก็เอาคังค์มาช่วยเลี้ยงลูกสินะครับ นี่คือเป็นหลัก”

แสดงว่าเรื่องเงินไม่เกี่ยวเลย? “เงินไม่เกี่ยวเลยถูกต้องครับ ความอบอุ่นของเด็กเป็นหลัก ศาลจะยึดประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก ให้เด็กได้รับความอบอุ่น ให้เด็กได้รับความสุขให้มากที่สุดนะครับ นี่คือหลักการของศาลเยาวชน”

แล้วทางศาลจะพิจารณายังไงว่าเด็กอยู่กับใครแล้วมีความอบอุ่น?

      “ศาลต้องสอบสวนครับ ศาลจะใช้นักจิตวิทยาครับ ให้ทั้งพ่อและแม่เนี่ยไปให้การกับนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์นะครับแล้วแต่กรณี แล้วก็จะมีพยานคนกลางที่จะมายืนยันว่าผู้หญิงหรือผู้ชายเลี้ยงลูกลักษณะไหน อะไรยังไงครับ คือก็จะมีอยู่ 3 กลุ่ม 1. คือถามตัวเด็ก ถ้าเด็กพูดได้ นอกจากนั้นก็จะต้องถามข้อเท็จจริงจากพ่อแม่ ซึ่งก็จะไม่ค่อยได้ความจริงเท่าไหร่ เพราะพ่อแม่ก็มักจะเอาความดีใส่ตัว เอาความชั่วใส่คนอื่นนะครับ ศาลจะสอบแต่ว่าก็จะไม่ค่อยฟังเท่าไหร่ แต่ก็มากลุ่มสุดท้ายนั่นคือคนกลาง อาจจะเป็นพ่อตาแม่ยาย พ่อปู่แม่ย่า หรือว่าคนที่อยู่ร่วมกับเด็กอยู่เป็นประจำ ก็จะถามคนกลุ่มนี้มากกว่า”

มีสิทธิ์เป็นไปได้ไหมว่าคนที่ฟ้องหย่าจะชนะคดีแน่นอน?

       “ไม่เสมอไปครับ เพราะบางคนฟ้องหย่าด้วยหลายเหตุผล 1. ฟ้องหย่าเพราะอยากหย่าจริงๆ กับ 2. อยากหย่าจริงๆ เลยเพราะตัวเองมีคนอื่นแบบนี้ก็มี แล้วก็มีหย่าการเมือง หย่าเพื่อให้หนี้สิน ทรัพย์สินแยกกัน  เขาเรียกว่าหย่าหลอก หย่าเฉพาะกิจ หย่าเฉพาะนิตินัย แต่พฤตินัยก็ยังอยู่กินด้วยกัน เพราะป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ตามมายึดทรัพย์ได้อะไรอย่างนี้”

การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ไปศาล มีผลทำให้แพ้คดีไหม?

       “เออในกรณีของศาลเยาวชนและครอบครัวต่อให้อีกฝ่ายหนึ่งจะขาดนัดยื่นคำให้การ ขาดนัดพิจารณาก็ดีนะครับ ฝั่งของโจทย์จะต้องนำสืบพยานให้รับฟังให้ได้ ยังไงก็ต้องสืบพยาน ไม่ได้เหมือนคดีเพ่งโดยทั่วไปนะที่จำเลยไม่มาแล้วศาลจะพิพากษาให้ชนะคดี โดยจำเลยขาดนัด ไม่มีครับ ในคดีครอบครัวโจทย์จะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้ได้ ให้เชื่อได้ว่าเข้าเหตุ 2 อย่างจริง ๆ ศาลถึงจะพิพากษาให้นะ โดยเฉพาะในบางคดีที่ไปยื่นคำร้องขอให้รับรองบุตร ยื่นคำร้องมาก็ไม่ใช่ว่าศาลท่านจะให้เลย ก็ไม่ใช่ ศาลต้องตรวจพยานหลักฐานว่าเห้ยๆ เป็นลูกจริงไหม เป็นพ่อลูกกันจริงไหม โดยสายเลือดไหม หรืออะไรยังไง เพราะมันมีคนประเภทนี้เยอะ อยู่ๆ ก็ไปอ้างว่าเป็นลูกของตัวเอง เพราะอะไร ก็เพราะเด็กคนนี้มันมีทรัพย์สมบัติ บางเคสก็ไปลักลูกคนอื่นเขามาแล้วก็ไปยื่นยันว่าเป็นลูกของตัวเอง ให้ศาลท่านรับรองมันก็มีนะครับ เพราะฉะนั้นคดีลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่ศาลจะให้สืบพยานประกอบเสมอ ศาลจะไม่อนุญาติให้โจทย์ชนะคดี โดยจำเลยขาดนัด จะไม่อย่างนั้น คือลักษณะคดีครอบครัว จะไม่เหมือนคดีเพ่งโดยทั่วไปครับ คดีครอบครัวยังไงก็ต้องสืบพยาน

เป็นไปได้ไหมที่วันตัดสินคดี ตัวบุตรจะขอเป็นฝ่ายเลือกเอง?

        “ไม่ได้ครับ ยากๆ คืออย่างนี้ก่อนนะ มันจะมีอยู่ในบางกรณีที่เมื่อหย่ากันแล้วเนี่ย ศาลเขาก็จะให้เบื้องต้นในคดีครอบครัว ศาลท่านจะให้เจรจากันก่อน ว่าคุณจะตกลงกันแบบไหนได้บ้าง เพื่อที่จะให้ข้อบาดหมางมันจบสิ้นไปได้ด้วยเร็ว ศาลส่วนใหญ่จะไม่ค่อยให้มีการสืบพยาน เนื่องจากว่า เมื่อสืบพยานไปแล้วเนี่ยต่างฝ่ายต่างจะขุดเอาความเลวๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งมาพูดให้ศาลฟัง มาพูดให้คนนอกฟัง สุดท้ายเด็กนั่งอยู่ตรงกลาง เด็กก็อ้าวๆ อันนี้พ่อเราก็เลวเหรอ แม่ก็เลวเหรอ ต่างคนต่างเป็นคนเลวไปหมด มันก็จะเกิดประเด็นอย่างนี้”

ถ้าศาลตัดสินไปแล้ว แต่วันหนึ่งบุตรอาจเปลี่ยนใจอยากไปอยู่กับอีกฝ่ายได้ไหม?

       “ก็ได้นะครับ แต่ว่าจะต้องให้ศาลเป็นคนสั่งเนอะ แต่ในลักษณะนี้เขาเรียกว่า เพิกถอนอำนาจปกครอง มันก็ต้องมีเหตุแห่งการเพิกถอนอีก อย่างเช่นประพฤติอย่างร้ายแรงคือทุบตีลูก ลูกก็อาจจะเปลี่ยนใจได้ แต่ว่าศาลจะไม่ให้เลยในกรณีอะไรรู้เปล่า…. คือตามใจลูก บางคนตามใจลูกจนเสียคนก็มี เพื่อที่จะให้ลูกเลือกข้าง กรณีนี้ศาลไม่ให้ แต่ศาลจะให้ก็อย่างเช่น กรณีพ่อติดยา พ่อติดเหล้า พ่อติดการพนัน พ่อติดคุก ก็ต้องไปให้แม่ เพราะฉะนั้นอีกอันนะ คืออำนาจปกครอง ทำไมเขาถึงแย่งชิงกัน คือทำไมอีกฝ่ายถึงแย่งชิง เพราะว่าการมีอำนาจปกครอบุตรนั้นสามารถที่จะกำหนดถิ่นฐานที่อยู่ของเด็กได้ เพราะฉะนั้นคือเด็กอยู่ที่นี่ แล้วคือเห้ยๆ คุณต้องมาคืนนะ เพราะฉันมีอำนาจปกครอง ถ้าคุณไม่เอามาคืนแจ้งความได้ เพราะฉะนั้นเขาก็เลยแย่งชิงอำนาจปกครองกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะบอกว่าไม่ว่าฝ่ายใดจะมีอำนาจปกครองก็ตาม การเป็นพ่อเป็นแม่โดยชอบด้วยกฎหมายนะ สามารถที่จะเข้าไปเยี่ยมเยียนบุตรได้ หรือเข้าไปขอเยี่ยมเยียนพบปะบุตรได้ตามสมควร ตามมาตรา 1584/1 อันนี้สำคัญ”

     

   “จะบอกว่าถึงจะหย่าแล้ว คืออำนาจปกครองอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มาตรานี้ 1584/1 กฎหมายกำหนดขึ้นมาบังคับเลยว่า ฝ่ายที่มีอำนาจปกครอง คุณต้องให้อีกฝ่ายเข้ามาเยี่ยมเยียนบุตรได้ตามสมควร เพราะมันเคยเกิดกรณีแบบนี้ครับว่า คุณจะมาเยี่ยมลูกเหรอ แต่คุณไม่ช่วยเรื่องตังค์เลยสักบาทหนึ่งอะไรแบบเนี่ย คือเอาลูกมาเป็นตัวประกัน เอาลูกมาเป็นข้อต่อรอง โดยที่ลืมคิดไปว่าลูกเขาอาจจะไม่ได้ต้องการตังค์ แต่เขาอาจต้องการความอบอุ่นจากพ่อ ศาลท่านก็เลยกำหนดมาตรานี้ขึ้นมา เพื่อบังคับว่าคุณอย่าเอาลูกมาเป็นตัวประกัน มาต่อรอง ถึงแม้อีกฝ่ายเขาจะไม่ได้ช่วยเหลือเรื่องตังค์ ช่วยเลี้ยงดูเลยแต่เขาก็มีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะเยี่ยมเยียนบุตรของเขา ได้ความอบอุ่นทั้งจากพ่อและแม่ เพราะฉะนั้นตำแหน่งความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก ฐานะเนี่ยมันไม่สามารถลาออกได้ มันเป็นไปยันตาย ตายไปก็ยังติดตัวไปตลอด ไม่มีใครที่จะสามารถออกจากตำแหน่งนี้ได้ครับ”

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากเฟซบุ๊ค: ทนายเจมส์ LK

ทนายเจมส์ นิติธร
ทนายเจมส์ นิติธร

 

ทนายเจมส์ นิติธร
ทนายเจมส์ นิติธร

 

ทนายเจมส์
ทนายเจมส์

 

ทนายเจมส์
ทนายเจมส์