รายการ เมย์ เอ๋ โอ๋ Mama s Talk (ทอล์คตัวแม่) เมย์ ปทิดา หรือ เมย์ เฟื่องอารมย์ เอ๋ พรทิพย์ เอิน กัลยกร โอ๋ ภัคจิรา

ล้วงชีวิตอดีตดาราดัง เอิน-กัลยกร ชีวิตดิ่งโรคซึมเศร้าขั้นสุด เคยคิดกรอกยาฆ่าตัวตาย

Home / TV Variety / ล้วงชีวิตอดีตดาราดัง เอิน-กัลยกร ชีวิตดิ่งโรคซึมเศร้าขั้นสุด เคยคิดกรอกยาฆ่าตัวตาย

เอิน กัลยกร

หายหน้าหายตาไปนาน สำหรับอดีตดารา-นักร้องดังยุค90 “เอิน-กัลยกร” ที่ปัจจุบันเดินหน้าให้ความรู้และช่วยเหลือผู้ป่วยเรื่องโรคซึมเศร้าอย่างเต็มแรง หลังเจ้าตัวเผชิญปัญหาเป็นหนึ่งในผู้ป่วยจากโรคฮิตของสังคมไทย “โรคซึมเศร้า” มานานกว่า20ปี งานนี้ “สาวเอิน” เลยขอมาแชร์ประสบการณ์ถ่ายทอดเรื่องราวและแง่คิดดีๆของปัญหาโรคซึมเศร้าผ่านรายการดัง “เมย์ เอ๋ โอ๋ Mama’s Talk” ถึงทางออกให้กับคนที่ประสบปัญหาจากอาการของโรคนี้แบบหมดเปลือก
“เอินได้ยินข่าวของกรมสาธารณสุขพูดถึงโรคซึมเศร้าที่กำลังเป็นภัยคุกคามประเทศไทย ตอนนั้นเรายังงว่ามันคืออะไร พอเขาบอกอาการให้ลองเช็คลิสต์มาทั้งหมด 9 ข้อ มันตรงกับเราเกือบทั้งหมดเลย เราเริ่มเอ๊ะหรือเราเป็น จนเริ่มมีคนพูดถึงเรื่องนี้เยอะขึ้น มีข่าวคนเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พี่ทราย เจริญปุระ ออกมาแชร์เรื่องนี้ เพราะพี่เขาเป็น เราเลยเริ่มยอมรับว่าเราน่าจะเป็น แต่ยังไม่ยอมไปหาหมอ กระทั่งถึงวันที่คุณสิงห์ สควีซแอนิมอล ฆ่าตัวตาย และมีกระแสข่าวมากมายออกมา เราเลยเชื่อแล้วว่าตัวเองเป็น ขอเบอร์หมอจากพี่ทราย แล้วไปหาหมอ พูดคุยและหมอให้ยากลับมากิน”
หลังจากได้รับคำปรึกษาจากหมออย่างถูกวิธีเรื่องโรคซึมเศร้าอาการดีขึ้นอย่างไรบ้าง
“เอินยอมรับว่า เมื่อได้รับการรักษาและได้กินยาไปประมาณ 2 สัปดาห์ จึงรู้เลยว่าชีวิตมีความสุขมาก มากที่สุดในชีวิตตั้งแต่จำความได้ อารมณ์ของตนอยู่ในความปกติ คงเส้นคงวา มาถูกทาง จากนั้นก็กินยามาตลอด แต่ยังคงมีอาการตกหลุม ก็เลยกลับไปหาหมอ หมอรู้ว่าลึกๆ ตนมีปม ก็เลยต้องมารักษา แก้ปม เอาความเชื่อบางอย่างออก เช่น เรื่องที่มองว่าตัวเองไม่สมควรได้รับความรัก เริ่มบำบัดจิต ทำให้เริ่มดีขึ้น คิดดีขึ้น ช่วยจัดการโครงสร้างบางอย่างในใจ และอีกคนที่ทำให้อาการป่วยดีขึ้นมาก อดีตนักร้องนักแสดง บอกว่า นั่นคือสามี แรกๆ ไม่เข้าใจว่าทำไมเวลาตนเสียใจต้องทำร้ายตัวเอง เอาหัวโขกกำแพง จากนั้นสามีได้พยายามเรียนรู้ เวลาที่ตนตกหลุม จะคอยอยู่เคียงข้างเสมอ ทำให้ตอนนี้อาการดีขึ้นมากๆ แต่ก็ยังมีอาการตกหลุมอยู่บ้าง”


จุดเริ่มต้นอะไรที่คิดว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราคิดว่าเผชิญกับปัญหาโรคซึมเศร้า
“จุดเริ่มต้นที่ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า เอินว่า มาจากความรุนแรงในครอบครัว เพียงแต่ในวัยเด็กไม่ได้มองว่านี่คือความรุนแรง คิดว่าเป็นเรื่องปกติของครอบครัว จนเมื่อโตถึงได้รู้ว่าที่ผ่านมาคือความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พ่อแม่ทะเลาะกันแทบทุกวัน, เคยให้ลูกไปนั่งดูพ่อแม่ทะเลาะกันแล้วให้ลูกเลือกว่าจะไปอยู่กับใคร, พ่อแม่เขวี้ยงปาข้าวของใส่กัน, แม่เอาไม้กอล์ฟตีพ่อ, พ่อบีบคอแม่ กับสิ่งที่ทำให้เอินกดดันอีกอย่าง คือกฎระเบียบต่างๆ ที่ครอบครัวตั้งขึ้น และต้องทำให้ทุกอย่าง ต้องเรียนได้เกรดตามที่แม่ระบุ ห้ามได้ต่ำกว่า, ห้ามไปนอนบ้านเพื่อน แค่ไปดูหนังกับเพื่อนยังไม่ได้เลย, เวลาแม่ดุห้ามมองหน้า เคยมองหน้า แม่เอานาฬิกาตั้งโต๊ะเขวี้ยงใส่หน้า,เวลาแม่ดุจะใช้คำหยาบคายเยอะมาก, แม่เคยพูดว่าชาตินี้ก็ใช้หนี้บุญคุณไม่หมด นอกจากตายจากกัน ซึ่งรุนแรงในความรู้สึกของเอินมาก เป็นคำที่ฝังอยู่ในใจตลอดมา รวมไปถึงเรื่องการใช้ชีวิต เคยถูกบังคับให้กินผลไม้ทั้งอาทิตย์ กินอาหารเสริม และกินยาลดน้ำหนัก เคยแอบไม่กินแม่รู้เลยบังคับให้กินต่อหน้า กินแล้วต้องอ้าปากให้ดูทุกครั้ง เจอปัญหาแทบทุกวันจนสะสม ร้องไห้หนักมากจนตัวบิด กรีดร้องแบบสุดเสียง บางครั้งเครียดหนัก เอามีดมากรีดแขนตัวเอง เคยทำร้ายตัวเอง ทุบ ตบ ตี เอาหัวโขกกำแพง แต่วันหนึ่งคิดได้ว่ามันไม่ได้อะไรเลยจึงหยุดทำ”
อาการที่เคยดิ่งสุดสำหรับโรคซึมเศร้าที่คิดว่าไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้แล้ว เคยเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง
“ครั้งที่หนักสุดเอินเคยคิดอยากฆ่าตัวตายมาแล้ว รู้สึกว่าไม่อยากอยู่ที่บ้าน อยู่ไม่ได้แล้ว ทุกวันที่เราอยู่เรายิ่งทุกข์ มันทำให้เราอยากตาย เราอยากจะออกไปอยู่กับเพื่อน แม่ก็ไม่ยอม ด่าเราว่าอกตัญญู ประกอบกับแม่เขาไปทะเลาะกับคนหนึ่งแล้วบังคับให้เราโทรหาคนๆ นั้น แล้วเราไม่ยอมโทร แม่ก็โกรธและบอกว่าต่อไปนี้ไม่ต้องมาเรียกฉันว่าแม่ จนเรารู้สึกว่าเราเลวมาก ทำไมทำให้เขามีชีวิตที่เราไม่ดีขนาดนี้ จนคิดอยากฆ่าตัวตาย โชคยังดีแม้ว่าจะซึมเศร้าจนถึงขั้นอยากคิดฆ่าตัวตาย แต่ในอีกความรู้สึกหนึ่งเธอกลับพบว่าแต่ละวิธีที่นำมาซึ่งความตายล้วนทรมาน เอินไม่กล้ากระโดดน้ำตาย เคยเกือบจมน้ำ มันหายไม่ออก ทรมานมาก, กระโดดตึกไม่เอา คิดถึงตอนกระโดดกลัวความรู้สึก สุดท้ายเลือกวิธีการกินยาตาย เราออกไปซื้อยาแล้ว แต่ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ต้องกลับมาวนตายอีก 500 ชาติ ตามความเชื่อ ก็คิดว่ามันก็ไม่จบ เพราะต้องมาเวียนวายตายแล้วตายอีก ทุกข์แล้วทุกข์อีก สุดท้ายคิดถึงหน้าพ่อก็เลยไม่ทำ”
ตอนนี้เห็นว่าเดินหน้าจริงจังเป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้ป่วยที่เผชิญปัญหาโรคซึมเศร้า อย่างเต็มตัว