ถ้าใครได้ติดตามโซเชียลมีเดียของนักแสดงอย่าง โน้ต วัชรบูล นอกจากรูปของตัวเองในงานด้านการแสดงและภาพต่างๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว ภาพที่นับว่ามีเยอะและเจ้าตัวลงให้ดูกันบ่อยๆ ก็คงหนีไม่พ้น ภาพของสัตว์ป่านานาชนิดที่เขาเป็นคนลั่นชัตเตอร์เองกับมือ ควบคู่กับภาพความสวยงามของป่า ครั้นที่เจ้าตัวได้แบ่งเวลาจากการถ่ายละครไปขึ้นเขาลุยป่ามาทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วที่เจ้าตัวสนใจทางด้านนี้ พร้อมๆ ไปกับการให้ความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรด้วย
โดยเจ้าตัวเล่าว่า ด้วยความชอบ ชอบที่จะเดินป่า และรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมทั่วโลกมันไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้นการที่เราจะเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้โลกมันดีขึ้นได้ ก็อยากให้ช่วยๆ กันเปลี่ยน และด้วยความเป็นนักแสดง เรามีช่องทางที่พอจะช่วยอะไรได้ ก็อยากช่วย และวิธีช่วยที่ผมว่าสำคัญก็คือ เอาเรื่องที่เราเจอมาเล่าให้คนฟัง ว่าป่าเมืองไทยเป็นยังไงบ้าง? มีภัยคุกคามยังไงบ้าง ซึ่งในตรงนี้พอเข้าไปเราก็ได้เห็น ได้รับทราบถึงปัญหาต่างๆ ในแต่ละที่ ในแต่ละป่า จากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่เขาคอยดูแล ซึ่งในแต่ละที่มันก็จะมีปัญหาต่างกัน ป่าภาคเหนือก็จะมีปัญหาอย่างหนึ่ง ภาคตะวันออกก็อีกอย่างหนึ่ง อย่างเขาใหญ่ ดงพญาเย็น อุทยานแห่งชาติทับลาน ก็จะมีปัญหาเรื่องไม้พะยูง ที่เป็นไม้ที่ตลาดมืดตอนนี้เขาชอบมาตัดเพื่อเอาไปขาย เพราะราคาดี ก็จะมีปัญหาเยอะ มีเรื่องแรงงานต่างชาติเข้ามาเยอะ มาที่ป่าตะวันตก ก็จะมีปัญหาเรื่องการอนุรักษ์เสือโคร่ง ไปที่ภาคใต้ก็เป็นปัญหาเรื่องนกเหงือก
ส่วนเรื่องภาพสัตว์ป่าแต่ละภาพ โน้ต เล่าต่อว่า แต่ละรูปใช้เวลาในการถ่ายมาก อย่างเช่นรูปเสือโคร่งเคยถ่ายได้ครั้งเดียว 2 รูป ในเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเวลาที่เจอสัตว์ต่างๆ ก็จะบันทึกรายละเอียดไว้ว่า ตรงนี้ ลำห้วยนี้ เจอกวางกี่ตัว เก้งกี่ตัว หมูป่ากี่ฝูง เพื่อที่จะเอาไปให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และนักวิจัย เพื่อที่เขาจะได้มาดูว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์แค่ไหน
แต่ถ้าพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถเปลี่ยนได้ก็อย่างเช่น การใช้ถุงผ้า การพกปิ่นโต การเอาหลอดไปใช้อะไรแบบนี้ ทุกคนสามารถทำได้ มันไม่อยาก มันเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ เพราะสงสารคนเก็บขยะ คือต่อให้เก็บยังไงมันก็เก็บไม่หมด ถ้าหากเราไม่ช่วยกัน ซึ่งถ้าหากทุกคนช่วยกัน มันเห็นผลนะ และตอนนี้เท่าที่เห็นมันดีขึ้นเยอะ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เขาไม่ค่อยใช้พลาสติกกันจริงจัง เพราะเขารู้ว่าจะต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้อีกนาน ตัวผมอย่างเก่งก็ 50 ปี แต่เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็ 60-70 ปี เขาก็ต้องคิดว่าต่อไปทุกๆ เช้าต้องลุ้นว่าออกไปข้างนอกจะต้องใส่หน้ากากรึเปล่า หรือฝุ่น PM 2.5 จะอยู่เรทไหน เพราะฉะนั้นเขาเลยต้องปรับตัว
ขอบคุณรูปภาพจากIG: @watcharabul